เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่เคารพ
ดิฉันเป็นแม่บ้านมีปัญหาไม่สบายใจเป็นอย่างมากอยากจะเรียนปรึกษาขอคำแนะนำจากคุณหมอ ปัจจุบันดิฉันอายุ 46 ปี ส่วนสามีอายุ 51 ปี เราสองคนแต่งงานกันมาได้ประมาณ 15 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน ที่ผ่านมาเราสองคนมีความสุขด้วยดีมาตลอด จนกระทั่งเมื่อปีเศษ ๆ นี้ ดิฉันกับสามีเริ่มทะเลาะกันบ่อยมากขึ้น สามีก็จะอารมณ์เสียอยู่บ่อย ๆ ช่วงแรกก็คิดว่าเครียดจากงาน แต่พอนานเข้าก็มีอาการทำตัวเหินห่าง

ที่สำคัญมีเพศสัมพันธ์กันลดลงจากเดิม ปกติแล้วเดือนหนึ่งก็ประมาณ 4-5 ครั้ง แต่ตอนนี้ลดลงเหลือเดือนละ 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งก็อ่อนแอไม่เหมือนเดิมจะปฏิบัติแบบเสียไม่ได้ เมื่อก่อนก็เคยช่วยงานบ้าน ทำสวน ล้างรถ แต่ปัจจุบันมักบ่นเหนื่อยไม่มีแรง ดูราวกับเป็นคนขี้เกียจ ทำให้อดหวั่นใจไม่ได้ว่าสามีจะมีภรรยาใหม่หรือเปล่า คิดมากและก็เครียด เคยบอกให้สามีไปหาหมอเขาก็เอาแต่ทะเลาะ ดิฉันควรจะทำอย่างไรดี เพื่อน ๆ เคยบอกว่าสามีอยู่ในช่วงวัยทองหรือเปล่า ซึ่งไม่ทราบว่าวัยนี้จะมีผลกระทบต่อสามีไหม ที่แน่ ๆ ตอนนี้ดิฉันเสียความรู้สึก โกรธ หมดความรักไปแล้ว

ด้วยความเคารพอย่างสูง
รัชนก

ตอบ รัชนก
จากปัญหาที่กล่าวมานั้นอาการชายวัย 51 ปีนี้ก็เข้าข่ายของอาการพร่องฮอร์โมนเพศชาย หรือทางการแพทย์เรียกว่า Hypogonadism อาการแบบนี้มักมีความต้องการทางเพศที่ลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเต็มที่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง นอกจากนี้อาจมีภาวะอ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่อาจเกิดตามมาได้ในภายหลัง หากไม่ได้ทำการตรวจรักษา

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายอาจเรียกว่าเข้าข่ายวัยทองได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนลดต่ำลง เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้น ซึ่งเมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงก็จะเริ่มมีอาการที่แสดงออกดังที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อผู้ชายเริ่มมีอาการดังกล่าวที่สังเกตได้ง่ายคือมักจะน้ำหนักตัวขึ้นง่าย อ้วนลงพุง ถือเป็นสัญญาณเตือนว่ามีระดับฮอร์โมนเพศลดลง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และหาระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนพร้อมกับตรวจต่อมลูกหมากก่อนให้การรักษา

ซึ่งการรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายนอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัวด้วยการควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงของมัน ของทอด ของหวาน รับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น อาทิ ผัก ผลไม้ เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การปฏิบัติแบบนี้จะช่วยทำให้อาการพร่องฮอร์โมนเพศชายดีขึ้น แต่การรักษาในปัจจุบันของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการเสริมฮอร์โมนเพศทดแทน

ซึ่งวิธีการเสริมฮอร์โมนเพศทดแทนทำได้หลายวิธี เช่น การฉีด การใช้ยากิน ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศที่ลดลงจนมีอาการวัยทองให้สูงเพิ่มจนได้ระดับที่ใกล้เคียงกับสภาวะปกติของผู้ชายทั่วไป ดังนั้นการแก้ไขภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป เพียงแต่หาเวลาเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก็สามารถแก้ไขอาการต่าง ๆ ได้แล้ว ความสุขที่ขาดหายไปก็จะกลับมาดี และราบรื่นดังเดิม.

…………………………………………..
ดร.โอ สุขุมวิท51

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…