ในห้วงเดือนแห่งความรัก ในวันที่ 15ก.พ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) วิทยาเขต สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม NIDA LOVE RUNNERS 2025 กิจกรรมเดิน วิ่ง กินดีเพื่อสุขภาพ วิวหลักล้าน มุ่งเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ และส่งต่อองค์ความรู้การบริโภคอาหารปลอดภัย ลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 700 คน  โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกองทุน สสส. เป็นประธานเปิดงาน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกองทุน สสส. กล่าวในพิธีเปิดกิจกรรม NIDA LOVE RUNNERS 2025 ว่า ภัยสุขภาพจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) คร่าชีวิตคนไทย 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 4 แสนคนต่อปี สร้างความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการมีกิจกรรมทางกายและรับประทานผักผลไม้ที่ไม่เพียงพอ สสส. จึงขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและอาหารเพื่อสุขภาวะให้เป็นประเด็นสำคัญในการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายของแผนระยะ 10 ปี มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพประชาชน

โดยในปี 2568 เน้นขยายการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกระดับ กำหนดพื้นที่นำร่อง รวมถึงสร้างกลไกขับเคลื่อนแผนการสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตลดเสี่ยง NCDs ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปสู่ระดับประเทศ นำไปสู่สังคมภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

โคราช เป็นจังหวัดนำร่องในการจัดกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมในโคราชและสร้างกระแสส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ในรูปแบบเทศกาลการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Healthy Sport Tourism & Festival) จุดประกายในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญ นักวิ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เข้าถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการจากผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์จากเครือข่าย ‘ตลาดเขียว’ สสส. ทั่วประเทศอีกด้วย” นายประเสริฐ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. จัดงานเดินวิ่งกว่า 1 พันสนามต่อปี ความพิเศษของสนามนี้คือ งานวิ่งแนวใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดกระแสการออกกำลังกายควบคู่กับการเลือกกินอาหารที่ดีไม่ก่อให้เกิดโทษ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัย เน้นลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ผ่าน ‘ตลาดเขียว’ โดยเน้นหลักการ 8 เรื่อง

1. พื้นที่กระจายผลผลิตอินทรีย์ อาหารปลอดภัยสู่คนเมือง
2.ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการขยะ
3.มีที่มาจากเกษตรกรอินทรีย์ตัวจริง
4.มีมาตรฐานรับรอง PGS หรือออร์แกนิค
5.ราคาเป็นธรรม
6.พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม
7.กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
8.เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค ผ่านการจัดกิจกรรมชิมข้าว จากสายพันธุ์ที่มีโภชนาการสูง น้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า สสส.สนับสนุนให้มีเครือข่ายอาหารอินทรีย์ทั่วประเทศและพื้นที่จำหน่ายในตลาดชุมชนและโรงพยาบาลเป็นเครื่องช่วยการันตีถึงอาหารที่ปลอดภัย  ขณะเดียวการจัดงานวิ่งสนับสนุนให้มีมีการจำหน่ายอาหารปลอดภัยทำให้เกิดการตระหนักเรื่องการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยไปพร้อมๆกัน  โดยเปิดให้พื้นที่เป็นคนออกแบบ โดยรวบรวมอาหารอินทรีย์ในพื้นที่มาจำหน่ายให้นักวิ่ง ทั้งนี้หากมีการออกกำลังหายและตลาดสีเขียวไปด้วยกันชุมชนและชาวบ้านเองจะรู้สึกว่ามีพื้นที่ในการขายผักอินทรีย์ที่เขาปลูก จะช่วยเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถมาร่วมกิจกรรมได้มากขึ้น  อย่างไรก็ตามเครือข่ายอาหารปลอดภัยที่สสส.สนับสนุนมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่พบว่ายังมีการผลิตที่น้อย เพราะว่าผักที่เป็นผักอินทรีย์ต้องใช้การลงทุนที่สูงกว่า และใช้เวลา เพราะมีทั้งการเตรียมดิน และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จึงมีขั้นตอนที่มากกว่าการปลูกพืชผักแบบใช้สารเคมี ทำให้พืชผักอินทรีย์มีราคาสูงเมื่อเทียบกับผักที่ใช้เคมี ซึ่งการผลิตที่น้อยอยู่แล้วทำให้ราคาของอาหารปลอดภัยมีราคาสูง ดังนั้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการวิ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดกลไกการตลาดของผักอินทรีย์กว้างขึ้น เกิดตลาดใหม่ๆเพื่อให้เกิดกำลังการผลิตที่เพิ่ม ซึ่งจะมีส่วนทำให้สินค้าอินทรีย์มีราคาถูกลง

“ตลาดเขียวดำเนินการครอบคลุมตั้งแต่การผลิต ไปสู่การกระจาย การแปรรูป การตลาด และผู้บริโภค ที่ผ่านมา เกิดต้นแบบตลาดเขียวถึง 88 แห่ง ใน 19 จังหวัด และขยายผลผ่านการขับเคลื่อนนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ทำให้เกิดตลาดเขียวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกกว่า 300 แห่ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 1 แสนราย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนอกจากช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอาหาร ยังสร้างพลเมืองอาหารที่มีทักษะ จิตสำนึกในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ รวมพลังเป็นชุมชนอาหารที่เข้มแข็ง สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Gindee Club” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว