เนื่องจาก “นกเงือก” เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ุ โดยทางทีมนักวิจัยจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก จะหาต้นไม้ที่นกเงือกเคยทำโพรงรังเก่า แล้วปีนขึ้นไปตรวจสอบว่า สามารถที่จะทำรังต่อไปได้อีกหรือไม่ หากโพรงนั้น ๆ ไม่สามารถใช้ต่อไปได้ ก็จะทำการซ่อมแซมเพื่อให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของนกเงือก ซึ่งการซ่อมแซม ขั้นแรกจะทำการวัดขนาดของปากโพรง ทั้งขนาดความยาว ความกว้าง และความลึกข้างในโพรง เพื่อให้ประเมินได้ว่าจะต้องมีการจัดการซ่อมแซมโพรงนี้อย่างไร ให้เหมาะสมกับนกเงือกชนิดนั้น ๆ ซึ่งนกเงือกแต่ละชนิดมีความต้องการขนาดโพรงที่แตกต่างกันไป จากนั้นจะทำการเจาะเปิดปากโพรงโดยใช้สิ่วไม้

หากมีน้ำขังก็จะทำการใช้สว่านมือในการเจาะและใส่ท่อช่วยระบายน้ำ และหากโพรงที่มีความลึกเกินไปก็จะมีการขุดดินและนำขึ้นไปเทปูพื้นให้เสมอปากโพรง ปิดท้ายด้วยการทำไม้คอนหรือไม้เชิญชวน ซึ่งเป็นกิ่งไม้ที่ตอกไว้ข้าง ๆ ปากโพรง ทำไว้เพื่อให้นกเงือกเห็นการเปลี่ยนแปลงของโพรงรังและยังสามารถใช้เกาะดูข้างในโพรงพร้อมกับป้อนอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งการซ่อมแซมโพรงรังเช่นนี้ ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์นกเงือกอีกวิธีการหนึ่ง โดยเป็นการจัดการด้านถิ่นที่อยู่อาศัย จัดการโพรงรังเพื่อให้นกเงือกสามารถทำรังวางไข่ขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มประชากรนกเงือก เมื่อมีประชากรนกเงือกเพิ่มมากขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับนกเงือกถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้อีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากนกเงือกจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ นกเงือกสามารถกินผลไม้สุกเป็นอาหาร มากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยเหตุนี้ นกเงือกจึงเป็นตัวช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากพฤติกรรมการกินผลไม้สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่าง ๆ ที่นกเงือกบินไปหากินในแต่ละวัน เมล็ดเหล่านั้นก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้เงาร่มรื่น จนได้รับฉายาว่านักปลูกป่าเลยทีเดียว

นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นกเงือกต้องใช้โพรงไม้ในการทำรัง แต่ว่านกเงือก ไม่สามารถเจาะโพรงรังเองได้เนื่องจากปากมีลักษณะกลวง ซึ่งต่างจากนกหัวขวานที่ปากแข็งสามารถเจาะโพรงเองได้ และโพรงรังเดิมที่นกเงือกเคยใช้ เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี ปากโพรงก็จะแคบลง พื้นโพรงก็ทรุดและมีน้ำขัง ทำให้นกเงือกไม่สามารถใช้โพรงรังในการทำรังวางไข่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเข้าไปช่วยจัดการโพรงรัง โดยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ทำการซ่อมโพรงรังดังกล่าว เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจับคู่ผสมพันธุ์ของนกเงือกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด อยู่ในวงศ์ Bucerotidae กระจายทั่วประเทศตั้งแต่ป่าในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับผืนป่าห้วยขาแข้ง มีนกเงือก 6 ชนิด ได้แก่ 1. นกกกหรือนกกาฮัง นกเงือกขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทย มีขอบเขตการกระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา มลายู เกาะสุมาตรา และประเทศไทย มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 2. นกเงือกคอแดง พบกระจายตั้งแต่ภูฏาน อินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมียนมา ตะวันตกเฉียงเหนือของไทย จนถึงทางเหนือของลาว แหล่งอาศัยของนกเงือกคอแดง อยู่และอาศัยในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 700-2,000 เมตร ในประเทศไทยพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 3. นกเงือกกรามช้าง มีการกระจายตัวตั้งแต่ตอนใต้ของภูฏาน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เวียดนาม เกาะสุมาตรา บอร์เนียวและบาหลี ในประเทศไทยพบกระจายทั่วประเทศ 4. นกเงือกสีน้ำตาล พบกระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของเมียนมาในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ไปจนถึงด้านตะวันตกของประเทศไทย อาศัยอยู่ในป่าดงดิบ 5. นกเงือกกรามช้างปากเรียบ พบกระจายพันธุ์ในเมียนมา ไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตรา หมู่เกาะโมลุกกะและหมู่เกาะโซโลมอน มักพบตามป่าดงดิบแล้งและป่าเบญจพรรณตั้งแต่ที่ราบจนกระทั่งระดับเชิงเขา ในห้วยขาแข้งพบทำรังวางไข่ และ 6. นกแก๊ก มีขอบเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยจัดเป็นนกเงือกขนาดเล็กที่สุดของเมืองไทย ปรับตัวเก่ง พบกระจายทุกภาคของไทย ในป่าห้วยขาแข้ง กระจายทั่วพื้นที่ทั้งในป่าดงดิบ ป่าผสมผลัดใบและป่าเต็งรัง ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ 6-10 ตัว มีการรายงานพบเจอการรวมฝูงในห้วยขาแข้งมากถึง 100 ตัว

บทบาทหน้าที่ของนกเงือกกับผืนป่าห้วยขาแข้ง ด้วยนกเงือกเป็นนกที่มีปากขนาดใหญ่ กินผลไม้ที่มีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ จึงทำหน้าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้โดยเฉพาะกลุ่มพืชผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่นกเล็กที่กินผลไม้ไม่สามารถกินแล้วนำพาเมล็ดไปได้ ไกล และในขณะเดียวกันก็กินสัตว์ใหญ่ เช่น งู แย้ กระรอก หนู จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็กให้กับผืนป่าทำให้สังคมป่าไม้เกิดความสมดุลและจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ให้ร่มเงาแก่สัตว์ชนิดอื่น ๆ.

ชนม์สวัสดิ์ ทองโพธิ์งาม

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่