ข้าพเจ้าขอถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา ขอพระองค์ทรงพระเจริญ และเป็นโอกาสอันดีที่จะระลึกถึงพระราชไมตรีอันแน่นแฟ้นที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ระหว่างพระราชวงศ์ญี่ปุ่นกับพระราชวงศ์ไทย
ญี่ปุ่นและไทยมีประวัติศาสตร์ของการติดต่อแลกเปลี่ยนกันมาอย่างยาวนาน และมีการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างแน่นแฟ้นมาโดยตลอด อีกทั้งต่างร่วมมือร่วมใจกัน ก้าวข้ามอุปสรรคอันยากลำบากมาหลายต่อหลายครั้งทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคโควิด 19
ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา เป็นปีเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ของทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยภายใต้รัฐบาลชุดใหม่นี้มาโดยตลอด
รวมถึงเมื่อเดือนมกราคม เมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในคาบสมุทรโนโตะ และเหตุการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งชุมชนของทั้งสองประเทศต่างได้มอบความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในพื้นที่ภัยพิบัติ จึงถือเป็นอีกหนึ่งปีที่สามารถเน้นย้ำถึง สายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพของทั้งสองประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ปี พ.ศ. 2567 ยังถือเป็นปีที่พิเศษสำหรับทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ในด้านเศรษฐกิจ ครบรอบ 70 ปี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) จากรัฐบาลญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย รวมถึง ครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กรุงเทพฯ และหอการค้าญี่ปุ่น (JCC) กรุงเทพฯ อีกทั้ง ครบรอบ 50 ปี เจแปนฟาวน์เดชั่น (JF) กรุงเทพฯ ด้วย
เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้ลงทุนในประเทศไทยเป็นมูลค่าจำนวนเงินราว 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของจำนวนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในประเทศไทย ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงยังมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมากถึงราว 6,000 บริษัท
ทั้งสองประเทศต่างสานสัมพันธ์ร่วมกันมาอย่างแน่นแฟ้นในด้านเศรษฐกิจ โดยมีศูนย์กลางในด้านอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ และมุ่งหวังว่า จากนี้ไปทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะให้ความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นมุ่งมั่นขยายขอบเขตความร่วมมือในด้านใหม่ ๆ ในด้านที่สามารถช่วยเหลือกันได้ เช่น อวกาศ ดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดการกับปัญหาที่ทั้งสองประเทศเผชิญร่วมกัน ได้แก่ อัตราการเกิดลดลงและประชากรผู้สูงอายุ รวมไปถึง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การเดินทางเยือนของผู้คนระหว่างทั้งสองประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2567 มีชาวไทยเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นมากถึง 1,150,000 คน ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ในเดือนเมษายน ปีนี้ จะมีการจัด มหกรรม “โอซาก้าคันไซเอ็กซ์โป 2025” ที่จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ “ออกแบบสังคมในอนาคตที่ชีวิตส่องประกาย” โดยจะมีอาคารนิทรรศการของประเทศไทยในงานครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ อาหารถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงทั้งสองประเทศไว้ด้วยกัน ในปัจจุบัน มีร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยอยู่มากถึงราว 6,000 ร้าน ทำให้อาหารญี่ปุ่นกลายเป็นอาหารที่อยู่ใกล้ชิดคนไทย ในทางกลับกัน อาหารไทยเป็นที่นิยมสำหรับชาวญี่ปุ่นด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อปีที่ผ่านมา “ต้มยำกุ้ง” หนึ่งในอาหารไทยที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักมากที่สุด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การ UNESCO และในขณะเดียวกัน “สาเก – ภูมิปัญญาและทักษะที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในการบ่มสุราด้วยเชื้อโคจิของญี่ปุ่น” ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนในรายการนี้เช่นเดียวกัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลของทั้งสองประเทศ โดยผ่านการท่องเที่ยวและอาหารจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอนาคต

อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นยังตอบรับนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยภ ายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ประเทศไทยมีสินทรัพย์ล้ำค่ามากมายที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งอาหารไทยและสถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศ และแน่นอนว่าจะถูกคาดหวัง ให้มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นจะร่วมมือกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของทั้งสองประเทศ
ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงสถานการณ์ในยูเครน เมียนมา และตะวันออกกลาง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ญี่ปุ่นและไทย ซึ่งเป็นมิตรประเทศมาอย่างยาวนานหลายปีจะร่วมมือกันในการรับมือกับประเด็นต่าง ๆ และส่งเสริมสายสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นมีความหวังด้วยใจจริงว่า ทั้งสองประเทศจะจับมือกันพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งต่อความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน ให้สืบทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป.
เครดิตภาพ : The Imperial Household Agency of Japan
ขอขอบคุณ : สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป