ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกาคิดแผนบีบให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโดยเร็ว จึงสั่งให้กองทัพอากาศสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกชื่อว่า “แฟ็ตแมน” และ “ลิตเติลบอย” ที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ

เช้าวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นบี-29 ลำที่ชื่อว่า “อีโนลา เกย์” ก็ทิ้งระเบิดลูกแรกลงที่เมืองฮิโรชิม่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อสิ้นสุดวันนั้น

ตอนนั้น ทสึโทะมุ ยามากุจิมีอายุเพียงยี่สิบปีเศษ เขาเป็นวิศวกรหนุ่มของบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ ในวันแห่งโศกนาฏกรรมครั้งแรกนั้น เขาเดินทางไปทำงานที่ฮิโรชิมาและอยู่ห่างจากจุดทิ้งระเบิดเพียง 2 ไมล์ (ราว 3.2 กม.) ในเช้าวันนั้น 

ทสึโทะมุ ยามากุจิ ถ่ายเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2551 ที่นางาซากิ

ยามากุจิเห็นท้องฟ้าเต็มไปด้วยแสงจ้า ซึ่งเขาบรรยายว่าเหมือนแสงสีขาวสว่างจ้าจากการเผาไหม้ของแมกนีเซียม เขากระโจนลงไปในคูน้ำก่อนที่เสียงระเบิดที่ดังสนั่นจะดังขึ้น แรงคลื่นกระแทกทำให้ยามากูจิลอยอยู่ในอากาศแล้วตกลงไปในบริเวณแปลงมันฝรั่งใกล้ๆ เขามีรอยไหม้จากรังสีที่แขนและใบหน้าเป็นสีดำ แก้วหูทั้งสองข้างแตก และตาบอดชั่วคราวจากการระเบิด

“ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น” เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะไทม์สในภายหลัง  “ผมคิดว่าผมเป็นลมไปพักหนึ่ง เมื่อลืมตาขึ้น ทุกอย่างก็มืดไปหมด ผมมองอะไรไม่เห็นเลย”

ภาพจากนิทรรศการจัดแสดงในปี 2566 แสดงสภาพของเมืองฮิโรชิมาหลังจากโดนทิ้งระเบิดปรมาณูเมื่อปี 2488

หลังจากใช้เวลาทั้งคืนในหลุมหลบภัยทางอากาศกับเพื่อนร่วมงานสองคนที่รอดชีวิตจากการระเบิดเช่นกัน ยามากุจิก็ขึ้นรถไฟและกลับถึงบ้านที่นางาซากิในช่วงเช้าของวันที่ 8 สิงหาคม และมุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ

วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 9 สิงหาคม 2488 วิศวกรหนุ่มลากสังขารไปทำงานที่สำนักงานมิตซูบิชิสาขาเมืองนางาซากิ 

ในระหว่างการประชุมของวันนั้น แสงวาบสีขาวก็ระเบิดขึ้นบนท้องฟ้าอีกครั้ง ตามมาด้วยคลื่นกระแทก ระเบิดลูกนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปในทันทีถึง 70,000 ราย

“ผมคิดว่า ‘เมฆรูปเห็ด’ คงตามผมมาจากฮิโรชิมา” ยามากุจิกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ดิ อินดีเพนเดนซ์ในเวลาต่อมา 

หลังจากการทิ้งระเบิด ยามากุจิรีบไปหาภรรยาและลูกชายของเขา ซึ่งได้รับบาดเจ็บไม่มากเพราะพวกเขาหลบภัยอยู่ในอุโมงค์ 

เขายังคงพักรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บเนื่องจากสัมผัสรังสีปรมาณูถึงสองรอบ เมื่อจักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศยอมแพ้สงครามโลกทางวิทยุเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 

“ผมไม่รู้สึกอะไรเลย” ยามากุจิกล่าวตอนที่เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะ ไทม์ส  “ผมไม่ได้รู้สึกเสียใจหรือดีใจเลย ผมป่วยหนัก เป็นไข้ กินอะไรแทบไม่ได้ แทบจะไม่ได้ดื่มอะไรเลยด้วยซ้ำ ผมคิดว่าตัวเองกำลังจะตายเสียแล้ว” 

ยามากุจิไม่เคยพูดถึงประสบการณ์ของตัวเองต่อสาธารณะเลยจนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงปี 2543 เมื่อเขาออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ โดยพูดถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในกรุงนิวยอร์กเมื่อปี 2549

“ผมเคยประสบกับระเบิดปรมาณูถึงสองครั้งและรอดชีวิตมาได้ ดังนั้น ผมถูกกำหนดให้มาพูดถึงเรื่องนี้” เขากล่าวในสุนทรพจน์

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดปรมาณูที่พิพิธภัณฑ์พีซ เมโมเรียล ในเมืองฮิโรชิมา เมื่อปี 2566 ก่อนหน้าการจัดประชุมผู้นำโลก G7

นอกจากนี้ เขายังเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เหตุผลที่ผมเกลียดระเบิดปรมาณูก็เพราะผลกระทบของมันต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมโลกถึงไม่เข้าใจความทุกข์ทรมานที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ เหตุใดพวกเขาถึงจะยังพัฒนาอาวุธเหล่านี้ต่อไปกันอีก?”

ในปี 2552 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 93 ปี ยามากุจิได้รับการเรียกขานว่าเป็น ‘นิจู ฮิบาคุชะ’ หรือ ‘ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้ง’ โดยรัฐบาลท้องถิ่นของนางาซากิและฮิโรชิม่า

ยามกุจิกล่าวไว้ก่อนเสียชีวิตว่า “หลังจากที่ผมตาย ผมอยากให้ ‘ฮิบาคุชะ’ (ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู) รุ่นถัดจากผมและลูกๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับพวกเรา” 

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : AFP