โดยรวมๆ เท่าที่ดูมา ฝ่ายค้านอภิปรายได้น่าพอใจหลายคน คิดว่า“สส.เติ้ล”วรภพ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ( ปชน.) อภิปรายเรื่องที่น่าจะอยู่ในใจประชาชนมาก หรืออาจกระทบต่อประชาชนมากแข่งกับเรื่องคอลเซนเตอร์ก็ได้ เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ คือราคาไฟฟ้า  สส.เติ้ลชี้ว่า การซื้อไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ( กฟผ.) กับเอกชน เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานที่สนิทสนมกับนายกฯ

“เมื่อนายกฯเดินหน้าสานต่อรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนระยะ 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ แม้โครงการนี้จะชะลอมา 3 เดือนแล้ว  แต่อาจรอให้ข่าวเงียบแล้วค่อยลงนามในสัญญาซื้อขายกับเอกชน การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ไม่มีการประมูลแข่งขันราคา เพราะกำหนดราคารับซื้อไว้แล้ว ( แทนที่จะให้บริษัทเอกชนประมูล ว่า เจ้าไหนให้ราคาถูกที่สุด )  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีอนาคต คำนวณแล้วจะทำให้ค่าไฟของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท

“ยกตัวอย่างราคาไฟฟ้าแสงอาทิตย์หรือโซล่า เซลล์ ที่บิดาของนายกฯเคยยืนยันเมื่อ 2 เดือนที่แล้วว่า ต้นทุนไฟฟ้าโซล่า เซลล์อยู่ที่ 1.8 บาทต่อหน่วย  แต่นายกรัฐมนตรีคนลูกยินดีจะซื้อจากบริษัทเอกชนถึง 2.2 บาทต่อหน่วย  ทำให้ค่าไฟของประชาชนจะแพงขึ้นเกินจริง การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ ยังซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด 2,000  เมกะวัตต์ของรัฐบาลเอง ที่อนุมติก่อนหน้าไปแล้วในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ช่วงเดือน มิ.ย. 2567 แต่ในเดือน ก.ค.2567 รัฐบาลแพทองธาร กลับเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์”

สส.เติ้ลชี้ว่า ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็นอยู่แล้ว หากรัฐรับซื้อไฟฟ้าที่เอกชนผลิตเกินความต้องการจริง  ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับก็จะมาหารใส่ในบิลค่าไฟของประชาชนทุกครัวเรือน โครงการยังเหมือนกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ปลอบใจรายเก่า กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติมีจำนวนมาก เอกชนที่ได้รับคะแนนเทคนิคสูงที่สุด จะได้รับคัดเลือกก่อน  ไม่มีการประกาศว่า หลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิคคืออะไร เปิดให้ใช้ดุลยพินิจแบบจิ้มเลือก  รัฐบาลเร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มทุนพลังงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวนายกรัฐมนตรี 

“เรียกร้องให้รัฐบาลแพทองธารยกเลิกโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟส 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ และเร่งรัดการเปิดเสรีพลังงานสะอาด (Direct PPA) พร้อมขอให้ยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ในส่วนที่ยังไม่ได้ลงนามด้วย” นั่นคือมองว่า ซื้อไฟฟ้าสำรองจากเอกชนเกินจำเป็น    

เรื่องนี้ “รองนายกฯตุ๋ย”พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า เรื่องค่าไฟฟ้าหมุนเวียนที่ว่า นายกฯ เห็นด้วยในเรื่องหาทางหยุด อย่าเพิ่งเซ็นสัญญาก่อน “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร ได้บอกให้ตนเองทำหนังสือถึง กกพ. แต่ กกพ.แจ้งว่า รองนายกฯ ไม่มีอำนาจ จึงจะไปตรวจสอบเรื่องนี้ และตอนนี้รัฐบาลกำลังวางแผนเกี่ยวกับราคาพลังงาน  ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เปิดช่องให้กับนายทุน  สัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นการเซ็นระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ. ) กับผู้ที่ประมูลได้ ไม่ใช่นายกฯ และรัฐบาลนี้ยังไม่ประมูล

 การซักฟอก “นายกฯอิ๊งค์” ก็อย่างที่รัฐบาลบอก “เพิ่งเข้ามาหกเดือน จะซักฟอกอะไร ?” แนวๆ ผลงานเป็นรูปธรรมก็ยังไม่เห็นชัด ทำให้ฝ่ายค้านไปเล่นงานคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) ที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เสียเยอะ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ ตัวแทงก์พรรค ปชน. เอาประเด็นจริยธรรมการเลี่ยงภาษีที่เคยน็อค “พ่อแม้ว”จนมีม็อบพันธมิตรเคลื่อนไหวขับไล่มาแล้ว

วิโรจน์ยกรัฐธรรมนูญหมวดหน้าที่ปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (9) กำหนดให้บุคคลต้องเสียภาษี มากระแทกว่า ตามบัญชีทรัพย์สิน นายกฯอิ๊งค์เป็นลูกหนี้ 9 รายการ มูลค่าหนี้สิน 4,434.5 ล้านบาท ซึ่งมีเอกสารแนบแค่ 9 แผ่น เชื่อได้ว่าเอกสารนี้ไม่ใช่สัญญาเงินกู้  แต่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋วพีเอ็น (PN)  คือหนี้สินจากการที่ น.ส.แพทองธารซื้อหุ้นจากแม่ พี่สาว พี่ชาย ลุง และป้าสะใภ้  ตั๋วมีเงื่อนไขที่ให้ชำระค่าซื้อหุ้นต่อเมื่อมีการทวงถาม และไม่มีดอกเบี้ย จึงไม่ได้กำหนดว่า น.ส.แพทองธารต้องจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นเมื่อไร ดังนั้น ถ้าชาตินี้ไม่มีใครทวง น.ส.แพทองธาร ก็ลืมไปได้เลยว่าต้องจ่ายเงิน

“การซื้อหุ้นดังกล่าวของ น.ส.แพทองธารจึงต้องสงสัยอย่างฉกรรจ์ว่าเป็นการใช้ตั๋วพีเอ็นทำนิติกรรมอำพราง ทำธุรกรรมการซื้อปลอม เพื่อตบตาการได้หุ้นจากการให้มา  เป็นการซื้อหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีการรับให้ ( ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับแก่บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น ก่อนผู้ให้เสียชีวิต )  มีตั๋ว PN 9 ใบ ออกหลัง 1 ก.พ.2559 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายการรับให้มีผลบังคับใช้ ตั๋ว PN ใช้ในกลุ่มผู้ที่ค้าขายกันมานาน กู้ยืมเงินโดยไม่มีหลักฐาน ถ้ากรมสรรพากรพบว่าบริษัทใดมีการออกตั๋วพีเอ็น ก็จะถูกเข้าไปตรวจสอบทันที

เมื่อคำนวณรวมแล้ว การที่น.ส.แพทองธารใช้ตั๋วพีเอ็นสร้างหนี้ปลอม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ เป็นเงินสูงถึง 218.7 ล้านบาท อีกทั้งยังทำให้แม่ พี่สาว พี่ชาย ลุง และป้าสะใภ้ ไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแม้แต่บาทเดียว และต่อให้มีการจ่ายค่าซื้อหุ้นกันในภายหลัง คนเหล่านี้ก็ไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เพราะตามมาตรา 40 (4) (ช) ของประมวลรัษฎากร กำหนดว่ารายได้จากการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนเกินจากมูลค่าหุ้นหรือกำไรจากการขายหุ้น จึงจะถูกนับเป็นเงินได้พึงประเมิน ดังนั้นถ้ากงสีขายหุ้นให้น.ส.แพทองธารในราคาพาร์ หรือราคาทุน แม่ พี่สาว พี่ชาย ลุง และป้าสะใภ้ของ น.ส.แพทองธารก็ไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดา   เราจะบอกกับประเทศอื่นๆอย่างไรว่าประเทศไทยมีนายกฯหนีภาษี ตนจะนำสิ่งที่อภิปรายไปยื่นให้อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบต่อไป”

ในการชี้แจง นายกฯ อิ๊งค์ ดันย้อนนายวิโรจน์จนไม่รู้จะโดนทัวร์ลงหรือไม่ ว่า  “ที่กล่าวหาว่านายกฯคนนี้หนีภาษี ไม่ได้เป็นความจริงเลยและจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม ถึงแม้ดิฉันจะอายุน้อยกว่าท่าน แต่ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันเสียภาษีให้รัฐมากกว่าท่านแน่นอน” กลายเป็นขิง ( อวด ) ใส่กันอีกว่าใครรวยกว่ากัน

นายกฯอิ๊งค์ยืนยัน เรื่องบัญชีทรัพย์สินทำถูกต้องโปร่งใส กระทั่งการถือครองที่ดิน ที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายทั้งที่ดินอัลไพน์ และที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลี่ย์ ที่ถูกกล่าวหาว่า รุกที่ป่าต้นน้ำ ที่ จ.นครราชสีมา ก็ได้มาถูกต้อง มีโฉนด  หุ้นที่นายวิโรจน์พูดถึงตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนดิฉันเข้าสู่การเมืองหลายปี การใช้ตั๋ว PN คือหนังสือที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับอีกคนหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้  การซื้อขายบางรายการไม่มีการเสียภาษี เนื่องจากยังไม่มีการชำระเงิน และยังไม่ทราบจำนวน จึงยังเสียภาษีไม่ได้  การซื้อขายแบบนี้ จะเป็นภาระหนี้สินระหว่างตนเองในฐานะผู้ซื้อ และครอบครัวในฐานะผู้ขาย ไม่มีนิติกรรมอำพรางใดๆ   ณ เวลานั้นตนเองไม่ได้มีความพร้อมที่จะชำระค่าหุ้นด้วยเงินสด จึงทำตั๋วสัญญาใช้หนี้แทน ซึ่งได้แสดงไว้บัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว วางแผนที่จะชำระด้วยโดยรอบแรกจะเกิดขึ้นภายในปีหน้า ไม่ได้มีปัญหาอะไร  

วิโรจน์ก็ยังจะขยี้เรื่องนี้เพิ่ม  บอกว่า นายกฯได้ยอมรับกลางสภาว่าจริง และยอมรับว่า คิดที่จะจ่ายกันในปีหน้า และเชื่อว่าสังคมกำลังรอคำตอบจากนายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากรด้วยเช่นกัน  นายกฯ ยอมรับด้วยว่าเป็นเรื่องปกติที่คนในแวดวงธุรกิจของทำกัน ขอเรียกร้องว่าใครที่ทำแบบนี้ช่วยแสดงตัว  คนที่ใช้วิธีตั๋ว PN  แบบ น.ส.แพทองธารซื้อหุ้น ไม่มีดอกเบี้ยไม่มีกำหนดวันจ่าย มีใครทำบ้าง  ได้สอบถามบุคคลอื่นแล้วไม่มีใครกล้าแสดงตัวเพราะกลัว กรมสรรพากรตรวจสอบ  ตกลงนายกฯทำแบบนี้ได้หรือไม่ กำลังมีเจ้าของกิจการ เจ้าของห้างร้านอีกจำนวนมาก ที่กำลังจะโอนหุ้น โอนทรัพย์สินให้กับลูก เขาจะได้นำพฤติกรรมของ น.ส.แพทองธารไปเป็นแบบอย่าง โดยไม่ต้องให้ เงินแต่ให้ออกเป็นตั๋ว PN โดยไม่ต้องกำหนดว่าจะจ่ายวันไหนและไม่มีดอกเบี้ย ก็ได้ หุ้นเปลี่ยนมือไปโดยไม่เสียภาษีการรับให้

“และหุ้นก็เปลี่ยนมือจากพ่อไปสู่ลูก แม่ไปสู่ลูก โดยไม่ต้องชำระภาษีการรับให้  แล้วจะมีระเบียบเกี่ยวกับการรับให้ออกมาหรือไม่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีการรับให้ 5% มีความเสมอภาคกันทั้งประเทศ  เรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมายืนยัน ถ้าใช้ตั๋ว PN ในลักษณะจำแลง การซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นจริง ต้องมีความผิดทางกฎหมาย  นายกฯ ยอมรับว่าจะจ่ายเงินกลางสภา  เรื่องนี้มีความผิดทางอาญาแน่ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร  เราจะยื่นเรื่องต่ออธิบดีกรมสรรพากร หลังเสร็จการอภิปรายภายในสัปดาห์นี้”

สส.ตัวทอปย้ำกับนายกฯ ว่า “คนที่เป็นผู้นำประเทศ ควรทำพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่   ปัญหาคือคุณเสียภาษีครบหรือไม่ หรือใช้เทคนิคเล่ห์ เพทุบาย หรือใช้เทคนิคใดมาหลบเลี่ยง  การยื่นความผิดอาญาและผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงต่อ ป.ป.ช.ทำได้ทันทีไม่ต้องรออธิบดีสรรพากรให้คำตอบ เพราะมีแนวคำพิพากษาที่ศาลฎีกาเคยตัดสินไปแล้ว”  

ก็ไม่ต้องรอนาน นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร  กล่าวถึงการซื้อขายหุ้นโดยออกตั๋ว PN ของนายกฯ ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า การออกตั๋วพีเอ็นจะระบุระยะเวลา รวมถึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้ แต่หากคิดดอกเบี้ย จะต้องกำหนดในตั๋วอย่างชัดเจน   สำหรับการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์  ผู้ขายมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะใช้เกณฑ์เงินสด หมายถึงว่า จะถือเป็นเงินได้ ก็ต่อเมื่อมีการชำระเงินสดเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นการซื้อขายหุ้นนอกตลาดด้วยวิธีการออกตั๋ว PN ก็จะเสียภาษีเมื่อมีการชำระตั๋วด้วยเงินสด ในกรณีนี้ทราบว่า นายกฯ ชำระเงินสดในปี 69 เท่ากับว่าผู้ได้รับเงินจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีของปี 69 โดยยื่นแบบฯ ในปี 70 ไม่ได้นับตั้งแต่ตอนได้รับตั๋วพีเอ็น

“สำหรับหลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์  เงินได้ประเภทนี้เป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ช (มาตรา 40(4)(ช)) จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราก้าวหน้าและต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้าด้วย  เงื่อนไขการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่มีการใช้มาก่อนปี 2530 แล้ว ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ปฏิบัติโดยยึดเกณฑ์เงินสดมาตลอดในทุกกรณี”อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว

เรื่องซื้อขายหุ้นไม่เสียภาษีนี่ จะถูกโยงกับจริยธรรม ซึ่งประเด็นจริยธรรมเคยสร้างปัญหากับนายกฯ ตระกูลชินวัตรมาแล้ว 2 คน วันนี้เบื้องต้นอธิบดีกรมสรรพากรชี้แจงมาแล้ว รอดูฝ่ายค้านจะขย่มเรื่องนี้อย่างไรต่อ.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่