ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ จากอาคาร (บ้านหลังใหม่) ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มลงมา จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว-อาฟเตอร์ช็อก เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มี.ค.68

ันนี้สังคมเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ เช่น กรมบัญชีกลาง...-กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)-กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ช่วยกันตรวจสอบสตง.” อย่างเข้มข้นและเท่าเทียม เหมือนกับตอนที่ สตง. ไปตรวจสอบหน่วยงานอื่น ๆ

พยัคฆ์น้อยเชื่อว่าข้าราชการหลายหน่วยงาน รู้สึกพอใจที่ สตง. จะถูกคนอื่นตรวจสอบอย่างเข้มข้นบ้าง! เนื่องจากที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ สตง.บางคน! วางอำนาจ บาตรใหญ่ ต้องให้คนอื่นดูแลรับรอง บางคนเวลาไปตรวจสอบหน่วยงานอื่นชอบใช้ตรรกะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ตอนนี้จึงมีรายการแฉ สตง. ออกมาเป็น “ออร์เดิร์ฟ” เกี่ยวกับการเตรียมการจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ โซฟา ครุภัณฑ์ สุขภัณฑ์ ในราคาที่ค่อนข้างแพง! และหรูหราเกินไปหรือไม่?

จริงหรือเปล่า? ที่ว่าสายฝักบัวชำระห้องน้ำผู้บริหาร ชุดละ 1,122 บาท จัดซื้อ 98 ชุด ฝักบัวอาบน้ำ ชุดละ 11,214 บาท จัดซื้อ 44 ชุด รวม 493,416 บาท จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ตกลงอาคาร สตง.มีห้องอาบน้ำกี่ห้อง? ถ้ามีห้องอาบน้ำ 44 ห้อง เยอะเกินไปหรือไม่? ถึงจะทำงานข้ามวัน ข้ามคืน ก็ไม่ควรซื้อฝักบัวอาบน้ำมากขนาดนี้

วกกลับมายังอาคารของ สตง.พังถล่มลงมา ทำไมอาคารอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ไม่มีอาคารไหนพังถล่มลงมาเลย! อาคารพักอาศัยของการเคหะแห่งชาติจำนวนมากเก่าแก่ สร้างมาหลายสิบปี ก็ไม่มีอาคารไหนพังถล่มลงมา

อย่าว่าแต่อาคารเก่าอาคารที่กำลังก่อสร้าง เหตุการณ์แผ่นดินไหว และอาฟเตอร์ช็อก ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อวันที่ 28 มี..ที่ผ่านมา มีเสาไฟฟ้าล้มซักต้นหรือเปล่า?

ดังนั้นดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องไล่ตรวจสอบอาคารของสตง.อย่างละเอียด ตั้งแต่การออกแบบการซื้อซองประกวดราคา มีการแข่งขันราคากันจริงหรือไม่มีการขายช่วงงานหรือเปล่าเข้าข่ายนอมินีหรือเปล่าการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างต่าง ๆ มีความแข็งแรง ได้มาตรฐานหรือไม่วิศวกรควบคุมงานเป็นใคร มาจากไหน?

เวลานี้จึงมีอาคารของหน่วยงานรัฐ 10-11 แห่ง กำลังหวาดผวา เกรงว่าจะซ้ำรอยอาคารของ สตง. เนื่องจากสร้างโดย “ผู้รับเหมา” รายเดียวกัน

ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ “รัฐบาลทหาร-รัฐราชการ” มักจะมีข่าวเรื่องการประมูลงาน การจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใสจำนวนมาก มีพวก “ขาใหญ่” มีการกดราคาจนเอกชนไม่กล้าทำสัญญา ขืนทำไปก็ขาดทุน! หรือทำ ๆ ไปแล้ว “ทิ้งงาน” ก็เยอะ รวมทั้ง “ขายช่วงงาน” 1-2 ช่วง ก็มี! แสดงว่ามีส่วนต่างของกำไรเยอะ!

ลูกหลานของคนใหญ่คนโตไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ก็หันไปเปิดบริษัทรับเหมา! ประมูลได้งานสร้างอาคารของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง! แต่มีการแข่งขันสู้ราคากันจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้! ประมูลได้งานมาแล้ว สร้างเอง! หรือว่า “ขายช่วงงาน” ให้คนอื่น ก็ตัวใครตัวมัน!!.

…………………………………
พยัคฆ์น้อย