เกาะติดปมร้อนการทำงานของสำนักงานประกันสังคมต่อเนื่องแบบดุเดือดไม่เกรงใจใคร  โดยเฉพาะประเด็นการใช้เงินกองทุนประกันสังคมซื้ออาคาร Skyy 9  มูลค่า 7,000 ล้านบาทว่า เป็นการลงทุนที่ได้คุ้มเสียหรือไม่ จนล่าสุดเกิดกรณีอาคารสำงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เขย่ามาถึง กทม. โดยรายการเดลินิวส์ทอล์ค ที่จัดผ่านช่องทางยูทูปและเฟซบุ๊ก ได้ ‘สส.ไอซ์’ รักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคประชาชน ถึงแนวทางตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

โดย “สส.ไอซ์” เปิดประเด็นถึงความคืบหน้ากับการตรวจสอบระบบประกันสังคมมาครบ 2 เดือนว่า ล่าสุดที่เปิดไป คือ เรื่องตึก  Skyy9 เป็น 2 ตึกที่เป็นประเด็นในเวลานี้ คือตึกนี้ และตึก สตง.  ซึ่งทุกคนเห็นปัญหาของทั้ง 2 ตึกนี้ เรียกได้ว่าเป็นการสะท้อนภาพของรัฐไทยที่เราปล่อยให้เกิดอะไรที่มันใหญ่แบบนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่มีแค่ 2 ตึกนี้เท่านั้น  คือ รัฐไทยมีเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่นหรือเรื่องที่จะส่อไปในแนวการใช้งบประมาณที่มันไม่คุ้มค่าแบบนี้อยู่ทุกวัน และทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นภาษีเรา ก็ต้องบอกว่าต้องตามและต้องจี้ต่อไป และเมื่อถึงเวลาเราคงออกมาพูดเรื่องนี้อีกครั้ง  

ตั้งแต่เราเปิดเรื่องตึก ตึก Skyy9 ไม่ใช่จะให้คนมาด่าว่าไม่คุ้มค่าแล้วจบไป สิ่งที่เราอยากชวนให้เป็นประเด็นของสังคมก็ คือ ที่มาของตึกนี้ เพราะว่าประกันสังคมเปิดให้มีการลงทุนนอกตลาด ซึ่งก้อนที่ลงทุนนอกตลาดแล้วไปได้ตึก ตึก Skyy9 คือเงิน 1 หมื่นล้านบาท  คุณเอา 7,000 ล้านบาทไปลงทุนในตึกนี้ ซึ่งผลประกอบการที่ออกมาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนไทยผู้ประกันตนแล้วว่าไม่คุ้มค่า  แต่ตอนนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังมีแผนที่จะขยายกรอบลงทุนนอกตลาดจาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13 เท่า ถ้ากระบวนการมันยังเป็นแบบนี้อยู่ มันจะมีตึก Skyy 9 หรือตึกอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกกี่ตึก

เราก็เลยเรียกร้องว่าก่อนที่คุณจะขยายกรอบการลงทุนที่ใหญ่ขนาดนี้  เราไม่ได้ขวาง แต่ที่ต้องลงทุนนอกตลาดเพราะว่าเป็นแนวโน้มของเทรนด์การลงทุนโลก แต่การที่คุณจะขยายกรอบการลงทุนคุณต้องมาพร้อมกับแผนบริหารความเสี่ยง เพราะคุณมีบทเรียนแล้วว่าไปลงทุนในตึกที่ไม่มีผู้เช่า ตึกที่อัตราตอบแทนกำไรยังไม่คุ้มค่า คุณก็ต้องมีแผนบริหารความเสี่ยงว่าขั้นต่ำของการลงทุนครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร  

และถ้าไปดูลึกๆ ในอดีตก็มีการไปลงทุนในรีสอร์ตหรูที่ภูเก็ต คำถามคือสุดท้ายได้กำไรเท่าไร และเป็นการลงทุนเพื่อช่วยเหลือใครหรือไม่ ถ้าไปดูไส้ในลึกๆ ก็อาจจะมีกรณีอื่นๆ ในลักษณะนี้อีก ถามว่าทำไมเราต้องมาดูเรื่องการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ก็ต้องถามต่อว่าเราส่งประกันสังคมแล้วทราบหรือไม่ว่าอีก 25 ปีข้างหน้า ประกันสังคมจะเจ๊ง จะเกิดขึ้นแน่นอน ถ้ายังบริหารกองทุนประกันสังคมแบบนี้อยู่

คนอายุ 25-26 ปีนี้ถ้าคุณส่งประกันสังคมแล้วคุณเกษียณคุณจะไม่ได้เงินสักบาท ซึ่งตอนนี้ยอดเงินกองทุนฯ อยู่ที่เกือบ 3 ล้านล้านบาท  นี่คือความสำคัญที่เราพูดถึงการลงทุนของคุณว่าคุ้มค่าหรือเกิดประสิทธิภาพสูงสุดหรือไม่ เพราะการลงทุนต้องตอบแทนด้วยผลกำไร ถ้าเอาไปซื้ออะไรก็ไม่รู้ เห็นอยู่แล้วว่าเป็นของแพง ไม่คุ้มค่า และผลตอบแทนได้ไม่คุ้มเสียแน่ๆ จะมีเหตุผลอะไรในการลงทุนแบบนี้ ไม่มีเหตุผลอะไรเลย ยกเว้นแต่ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเท่านั้นเอง

@ประกันสังคมต้องแยกออกจากระบบราชการเพื่อให้แก้ปัญหาได้หรือไม่

ต้องบอกว่าการเอาออกจากระบบราชการ คือ การแก้ใหญ่ เพราะการเอาออกจากระบบราชการต้องแก้กฎหมายและดูในเรื่องโครงสร้างอำนาจ สุดท้ายต้องมาดูว่าเราจะเลือกโมเดลไหนในการบริหารจัดการประกันสังคม แต่เรื่องเฉพาะหน้าที่ ซึ่งไปสิ้นสุดที่รัฐบาลทำได้ แต่รัฐบาลไม่เคยพูดถึงเลย คือ เรื่องของการจัดการ การทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ขอถามว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้อยู่มาเกือบ 2 ปี เคยเห็นใครในรัฐบาลออกมาพูดถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ สิ่งที่อยู่ตรงหน้าคุณ สิ่งที่จะทำให้ประชาชนประหยัดภาษีและเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้คุ้มค่าสูงสุด คืองบประมาณที่เก็บไปแล้ว  ต้องมาพูดตรงนี้ก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ประหยัดงบประมาณจากการทุจริตคอร์รัปชัน ทำอย่างไรให้ต้นทุนในการที่ผู้ประกอบการ ต่างๆ ลดต้นทุนในการที่จะต้องจ่ายส่วนต่างให้ภาครัฐได้

@ถึงเวลายกเครื่องหน่วยงานราชการทั้งระบบหรือไม่

 ถ้าเราดู สตง.จะเห็นว่าคนวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก เพราะประชาชนมีความโกรธแค้นอยากจัดการผู้ว่าฯ สตง.หรือประธานบอร์ด คตง. ภาคประชาชนมีการล่ารายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนผู้ว่าฯ สตง. แต่ต้องบอกว่าถึงล่าครบ 5 หมื่นรายชื่อก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อถอดถอนองค์กรอิสระได้  ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้ที่มาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ได้ยึดโยงกับสภา เพราะเขาจะมีการสรรหาคณะกรรมการ แล้วให้ สว. เป็นคนเลือก กลายเป็นว่าองค์กรอิสระทั้งหมดถูกเลือกโดย สว. และสว.ชุดที่ผ่านมาที่เลือกคณะกรรมการเหล่านี้ก็คือ 250 สว.ที่มาจากการจิ้มเลือกของ คสช. ถูกเลือกมาจากรัฐบาลที่มาจากการัฐประหาร และเป็นสว.ในชุดที่ทำให้ประเทศไทยมาถึงทุกวันนี้  

สิ่งที่เราเห็นคือยอดภูเขาน้ำแข็ง การใช้งบประมาณที่ไม่โปร่งใส ไม่ยึดโยงกับประชาชน ถอดถอนไม่ได้ แต่ราก ก็คือรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจองค์กรอิสระ ซึ่งเลือกมาจากสว. และเป็นเซตอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นหากจะยกเครื่องจริงๆ จึงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ  และต้องตั้งคำถามว่า สว.ยังมีความจำเป็นกับประเทศนี้อยู่หรือไม่ ซึ่งคำตอบของพรรคประชาชนเห็นว่าไม่จำเป็น สภาเดียวเพียงพอแล้ว

@คดีต่างๆ ที่อยู่ในป.ป.ช.ของพรรคประชาชนน่ากังวลแค่ไหน

ถ้าขึ้นว่าเป็นพรรคประชาชนมันก็น่ากังวลอยู่แล้ว ก็คงไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน เรารู้อยู่แล้วว่า ถึงแม้เขาจะสื่อสารเสมอว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่ได้เลือกปฏิบัติ และเราก็สู้ไปตามกระบวนการ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าคงมีอะไรบางอย่างในกระบวนการที่อาจไม่ได้ตรงไปตรงมาเป็นเส้นตรงเสมอ ถามว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ก็น่าเป็นห่วง ส่วนถามว่าหวั่นใจ ท้อใจหรือไม่นั้น เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่คิดว่ามันน่าหดหู่มากกว่า  เรารู้สึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นทั้งตัวไอซ์เองและพี่ๆ 43 คน หรือ สส.ที่เรามีอยู่ 140 กว่าคน เราทำงานเต็มที่อยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่าประเทศเราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ หรือ

 มันชัดเจนจนไม่รู้จะชัดอย่างไรแล้วว่ากระบวนการต่างๆ ไม่ตรงไปตรงมา ถ้าเป็นฝั่งที่อยู่ร่วมกับอำนาจ มันมีช่องให้คุณซิกแซกรอดตัวไปได้เรื่อย แต่ถ้าคุณอยู่ฝั่งที่เรียกว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจอีกฝั่งหนึ่ง กลายเป็นว่าคุณเอามือเสยผม คุณก็อาจจะผิดจริยธรรมแล้ว ซึ่งเราก็พยายามสู้ไปตามกติกา และหวังว่าจะไม่มีการตั้งธงอะไร