ช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีโอกาสนั่งคุยกับ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านไทรม้า จ.นนทบุรี เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในปี 54 และปี 64

ช่วงนั้นน้ำกำลังท่วมหนักหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ขณะคุยกัน ดร.ปลอดประสพจึงชี้ให้ดูสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเชี่ยวมาก แกบอกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปล่อยให้น้ำท่วมได้อย่างไร เพราะน้ำปี 64 น้อยกว่าปี 54 ถึง 5 เท่า แถมระบายออกทะเลได้ดีมาก เพราะน้ำทะเลไม่หนุนสูงเหมือนปี 54

ดร.ปลอดประสพเล่าบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 รวมทั้ง “เมกะโปรเจคท์” หลังจากน้ำลดเพื่อแก้ปัญหาประเทศในระยะยาว คือ โครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย

โดยมีการระดมความคิดจากหลายฝ่ายทั้งกรมชล ประทาน-มหาวิทยาลัย-การเมือง-ผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์-อิสราเอล กลายเป็น “ทีโออาร์” ออกมา 6 โมดูล แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ จนป่านนี้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม จึงวนเวียนซ้ำซากทุกปี

นอกจากนี้อย่ากลัวแต่เรื่องน้ำเหนือไหลบ่าลงมาท่วมกรุงเทพฯ แต่ต้องกลัวปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงท่วมกรุงเทพฯด้วย เนื่องจากสภาพพื้นที่กรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ 0.5-1 เมตร บางแห่งต่ำกว่านั้น เช่น ย่านรามคำแหง และช่วงเดือน พ.. น้ำทะเลหนุนสูง 1-1.5 เมตร กรุงเทพฯ จึงมีโอกาสจมน้ำทะเล

ดร.ปลอดประสพยังเขียนย้ำเตือนเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งแนวทางแก้ปัญหาไว้ใน “เฟซบุ๊ก” เมื่อ 27 ต.ค. และ 1 พ.ย.64 จนกระทั่ง 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงมาก สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และผู้ประกอบการร้านค้า ตั้งแต่พื้นที่ จ.สมุทรปราการ ขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ และนนทบุรี

ใครก็ได้ช่วยสะกิด พล..ประยุทธ์ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เข้าไปอ่านดูข้อมูลในเฟซบุ๊กของ ดร.ปลอดประสพ เผื่อว่าจะเกิดแนวคิดทำโครงการเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว

เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์และนายวราวุธบินไปประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น และฤดูกาลเปลี่ยนแปลง เรียกว่าแต่ละปัญหาล้วนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

อุตส่าห์ขนคณะไปกันเพียบ! แต่เมื่อปิดฉากการประชุม บรรดาชาวเน็ตและสื่อมวลชนได้เปรียบเทียบ “สปีช” ของพล..ประยุทธ์ กับ “สปีช” ของอดีตประธานาธิบดีโอบามา เมื่อ 6 ปีก่อน ในแต่ละช่วงบรรทัด ช่างคล้ายคลึงกันมาก จนแทบไม่มีใครเชื่อว่ามุมมองและความคิดของผู้นำ 2 ประเทศ จะตรงกันได้ขนาดนั้น (ฮา)

ถ้าจะบอกว่า พล..ประยุทธ์บริหารประเทศมากว่า 7 ปี แต่ยังไม่ “อิน” กับเรื่อง Climate Change ก็คงใช่! แถมยังปล่อยให้น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นปัญหาซ้ำซากของประเทศ เนื่อง จากที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วย “เวอร์ชั่น” ให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ไปทำโครงการขุดลอกคูคลองและแหล่งน้ำ ทำไปทำมาต้องยกเลิก เพราะมีกลิ่นไม่ดีเรื่องการขายช่วงงาน

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้บริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปี แต่สังคมไทยยังเห็นปัญหาทะเลาะวิวาทของชาวบ้านเกี่ยวกับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากอีกฝั่งถนนถูกน้ำท่วมหนัก แต่อีกฝั่งถนนน้ำกลับไม่ท่วม

สรุปคือไม่ “อิน” ทั้งเรื่อง Climate Change ยังไม่ “อิน” กับสภาพปัญหาดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ถ้าเป็นเรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ขอให้บอก!!.

———————–
พยัคฆ์น้อย