เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ก็ก้าวเข้าสู่โหมดของโลกยุคเอไอ แต่ในอีกซีกหนึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังอยู่กับ ความเชื่อ อยู่กับการทำบุญสุนทาน
ด้วยเพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ การทำบุญจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอย่างลึกซึ้ง แม้วัตถุประสงค์ของการทำบุญนั้นมีความหลากหลาย
ตั้งแต่เพื่อความสบายใจ เรื่อยไปจนถึงเรื่องของโชคชะตา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยจะควักเงินเพื่อทำบุญโดยไม่ได้คิดอะไรมากมาย นอกจากเพื่อความสบายใจ
ด้วยเหตุปัจจัยนี้ “เงินทำบุญ” จึงมีจำนวนมหาศาล สุดท้ายยังกลายเป็น “รายได้” ของศาสนสถานจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี จากแรง “ศรัทธา”ของพุทธศาสนิกชน
วัดในประเทศไทยมีมากถึง 43,005 วัด ซึ่งเป็นข้อมูลจากกองพุทธศาสนสถาน ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 โดยประเภทวัดที่มีพระสงฆ์ 43,000 วัด แยกเป็นมหานิกาย 38,595 วัด ธรรมยุต 4,366 วัด จีนนิกาย 16 วัด อนัมนิกาย 23 วัด
ด้วยจำนวนวัดที่มีอยู่จำนวนมาก จึงปฎิเสธไม่ได้ว่า ความครอบคลุมของระบบกำกับจึงเป็นเรื่องยาก ขณะที่วัดหลายแห่งมีรายได้หลักจากการบริจาคและกิจกรรมทางศาสนาโดยไม่มีมาตรฐานการจัดการบัญชีที่ชัดเจน
หากประเมินเงินบริจาคเปลี่ยวัดละ 2-3 ล้านบาทต่อปี นั่นเท่ากับว่า… เงินที่บริจาคให้วัดทั่วประเทศจะมีมากถึง 82,000-123,000 ล้านบาท
เงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นจำนวนมากเกินกว่า จีดีพีของประเทศขนาดเล็กบางประเทศด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่า เงินเหล่านี้ไม่มีระบบติดตาม ไม่มีระบบตรวจสอบ หรือการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ
แม้ว่าเงินเหล่านี้ถือเป็นเงินบริจาคที่มาจากความสมัครใจของคนที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ปัญหาใหญ่ จากการไม่มีระบบงบการเงินแบบมาตรฐาน ไม่อยู่ภายใต้ระบบภาษี ไม่ต้องรายงานงบการเงินกำไร-ขาดทุน ที่ถูกต้อง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า แม้วัดในประเทศไทยจะได้รับเงินทำบุญบริจาคเป็นจำนวนมาก และยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ

แต่กลับพบว่า ระบบการเงินภายในวัดเอง ยังขาดกลไกความโปร่งใส จนกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดผู้ไม่หวังดีเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่เปิดโอกาสให้เกิดการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น
อย่างที่เห็นกันอยู่ว่า การกระทำที่ไม่สุจริต เกิดขึ้นในวัด เป็นจำนวนมาก เกิดเป็นข่าวครึกโครมมากมาย ทั้งเรื่องของเงินทอนวัด ทั้งกรณีของ “เณรคำ” หรือแม้แต่กรณีของวัดไร่ขิง ที่เพิ่งเกิดขึ้น
ต้องยอมรับว่าการมีเงินไหลเข้าวัดจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยไม่มีระบบกำกับที่ดี ทำให้เกิดการลงทุนทางศาสนา แบบผิดทาง
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงศาสนา ในหลาย ๆ กรณี จึงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการฟอกเงินผ่านการบริจาค หรือการใช้อำนาจเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการเมือง
ผลกระทบเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะในเมื่อผู้คนรู้สึกว่าเงินที่บริจาคไป หรือทำบุญไป กลับถูกนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย หรือไม่ถูกต้องตามวิถีของพุทธศาสนา
ศรัทธาของผู้คนย่อมต้องเสื่อมถอยลงแน่นอน ผลที่ตามมา มีทั้งการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจรอบวัด ทั้งร้านขายของ ขายอาหาร ตลาดรอบวัด ที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวและผู้ที่มาทำบุญ
หรือแม้แต่พิธีกรรมต่าง ๆ เทศกาลงานบุญต่าง ๆ ที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ก็อาจต้องลดน้อยถอยลงไป ลดความคึกคักลงไป เพราะผู้คนเริ่มเสื่อมศรัทธา
รศ.ดร.นิรมล เสรีกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยศรัทธา คือสิ่งที่ดี แต่ต้องมีการกำกับดูแลอย่างโปร่งใส ไม่เช่นนั้นเงินจะไม่ถูกแปรเป็นคุณค่า
ที่สำคัญ “วัด” ยังถือเป็นหน่วยเศรษฐกิจชุมชน ที่มีรายได้ มีค่าใช้จ่าย และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไม่น้อย หากปล่อยให้เงินไหลเข้าออกวัดโดยไม่มีมาตรฐานบัญชี ก็ไม่ต่างจากการปล่อยให้ระบบ “การเงินเงา” ขยายตัวซึ่งมักเป็นพื้นที่ของการทุจริต
ปัญหาเหล่านี้!! ไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม แต่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ามา “จัดการ” ให้เงินทุกบาททุกสตางค์จากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ถูกต้อง!!
……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”