อาห์ซานทรัสมาร์คเป็นมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้เกิดจากการกำหนดโดยหน่วยงานรัฐ แต่เกิดจากการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของผู้ประกอบการสินค้าฮิญาบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” เป็นที่มาของ AHSAN Trustmark” ที่เกิดขึ้นจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ปัตตานี เพื่อสร้างมาตรฐานรับรองกลุ่มสินค้าฮิญาบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปิดโลกธุรกิจชุมชนให้เติบโต และเจาะตลาดผู้บริโภคทั้งชาวมุสลิม ผู้บริโภคทั่วไป และคู่ค้าในกลุ่มประเทศอาหรับ ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลนำมาให้พิจารณาใช้เป็นกรณีศึกษา

สำหรับ “มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์” ดังกล่าว เรื่องนี้ ผศ.ดร.มัฮซูม สะตีแม ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี บอกว่า AHSAN Trustmark เกิดจากการที่ทีมวิจัยมีโอกาสขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2565 ภายใต้กรอบการวิจัยของ บพท. จนเกิดนวัตกรรมนี้ขึ้น ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ผสานคุณค่าและความศรัทธาตามหลักพื้นฐานศาสนาอิสลาม ที่ชาวมุสลิมทั่วโลกเข้าใจความหมายคำว่า “AHSAN” ที่หมายถึง “สิ่งที่ดีที่สุด” เป็นอย่างดี โดยเป็นการประกอบธุรกิจในวิถีมุสลิมที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล และไม่ขัดต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังจะช่วยกระตุ้นธุรกิจชุมชนไปพร้อม ๆ กับช่วยยกระดับสินค้าชุมชนไปด้วย

ทั้งนี้ สินค้าที่จะได้การรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวนี้ ผศ.ดร.มัฮซูม ต้องมาจากผู้ประกอบการที่มี “หลักดำเนินธุรกิจชุมชน” หรือ “5L” ได้แก่ 1.Local Wisdom and Culture 2.Local Employment and Resources 3.Local Community & Network 4.Local Economy 5.Local Support อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อผู้ประกอบการมุสลิมเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดผู้บริโภคมุสลิม ก็สามารถขอการรับรองมาตรฐานนี้ได้เช่นกัน

ผศ.ดร.มัฮซูม สะตีแม

พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการก่อก่อตั้งสถาบันมาตรฐาน AHSAN Trustmark ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา กับมีการเปิดศูนย์นวัตกรรม AHSAN Trustmark เพื่อสร้างอาชีพให้นักศึกษาและชุมชน ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ปัตตานี โดยผู้ที่สนใจสเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.ahsan-trustmark.orgโดยในปี 2567 ได้นำร่องจำหน่ายสินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐานนี้ ในกลุ่มเสื้อผ้าฮิญาบ ที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจฮิญาบท้องถิ่น กว่า 10 ราย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น กับเกิดการพัฒนาความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกัน ทำให้ลดต้นทุนและช่วยเปิดตลาดใหม่ได้มากขึ้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการนั้นมักจะต่างคนต่างทำและแข่งขันกันเอง นี่เป็นความสำเร็จของ “ธุรกิจพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้” ที่มีหน่วยงานการศึกษาเป็นส่วนเสริมสำคัญช่วย “กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” จากการ “พัฒนามาตรฐานสินค้าเฉพาะ” ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับการเจาะตลาดได้อย่างน่าสนใจ.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]