“ข้าว” คืออาหารหลักของชาวเอเชีย รวมถึงชาวญี่ปุ่นที่ถือว่าข้าวเป็นมากกว่าอาหาร ข้าวสามารถสะท้อนได้ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และการเมืองของประเทศแห่งนี้

ราคาข้าวในญี่ปุ่นแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญ เช่น สภาพอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2566 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว อีกทั้งยังมีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อปี 2567 เกี่ยวกับ “ความเสี่ยงสูง” ของการเกิดอภิมหาแผ่นดินไหวตามแนวร่องลึกนันไก

หญิงสาวรับประทานข้าวอบหม้อดิน ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในเมืองซาวาระ ของจังหวัดชิบะ ทางตะวันออกของญี่ปุ่น

พื้นที่ปลูกข้าวในญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียง 2.3 ล้านเฮกตาร์ หรือราว 23,000 ตารางกิโลเมตรในปี 2567 จากที่เคยมีอาณาเขตสูงถึง 3.4 ล้านเฮกตาร์ หรือราว 34,000 ตารางกิโลเมตรในปี 2504 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้น ที่ต้องการลดกำลังการผลิตข้าวเพื่อควบคุมราคาในตลาด และไม่ได้มีการรณรงค์อย่างจริงจังให้ประชาชนบริโภคข้าวมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อควบคุมไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลได้จ่ายเงินให้เกษตรกร เพื่อแลกกับการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน

ห่วงโซ่อุปทานของข้าวในญี่ปุ่นมีความซับซ้อนสูง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงขายข้าวผ่านระบบดั้งเดิม ที่ดำเนินการโดยสหกรณ์การเกษตรแห่งญี่ปุ่น (เจเอ) ซึ่งถือเป็นองค์กรด้านการเกษตรที่มีอิทธิพล และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่เป็นพรรครัฐบาล ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กระบวนการระบายข้าวออกจากคลังสำรองเป็นไปอย่างล่าช้าและซับซ้อนด้วยอุปสรรคที่ต้องเจรจากับหลายภาคส่วน

นายชินจิโร โคอิซูมิ รมว.เกษตรญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกรณีการปล่อยข้าวสำรองฉุกเฉินล่าช้า และยังประเมินสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานผิดพลาดอีกด้วย นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีเพียง 10% ของข้าวสำรองเท่านั้นที่ภาครัฐปล่อยออกมาและถึงมือผู้บริโภค จึงทำให้เกิดคำถามว่า ข้าวส่วนที่เหลืออีก 90% “หายไปไหน”

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ผู้นำญี่ปุ่น ให้คำมั่นว่าจะพยายามลดราคาข้าวให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม อิชิบะยังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่า เหตุใดความพยายามทั้งหมดจึงยังไม่สามารถกดราคาข้าวในท้องตลาดให้ต่ำลงได้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตถึง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ในการจัดการนโยบายข้าวของรัฐบาลเอง

ความต้องการบริโภคข้าวภายในประเทศที่ยังคงสูง ประกอบกับการกักตุนข้าวของประชาชนและผู้ประกอบการบางราย ยิ่งประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังคงหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้อุปสงค์สูงเกินอุปทานมากขึ้นไปอีก

มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปัญหาคือ ขีดความสามารถในการสีข้าวของญี่ปุ่นยังไม่เพียงพอ จึงยังไม่สามารถแปรรูปข้าวกล้องที่เก็บไว้ในคลังสำรอง ให้กลายเป็นข้าวขาวบริสุทธิ์ตามความนิยมของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ แต่ก็มีข้อครหาว่า ผู้ค้าส่งและพ่อค้าคนกลางบางรายเจตนากักตุนข้าวไว้ เพื่อรักษาระดับราคาให้ยังคงสูงอยู่

นายชินจิโร โคอิซูมิ รมว.เกษตรของญี่ปุ่น กล่าวถึงวิกฤติราคาข้าวแพงในประเทศว่า ราคาสินค้าดังกล่าวแพงขึ้น “อย่างผิดปกติ” หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การบริโภคข้าวของประชาชนอาจหันไปสู่การนำเข้าข้าวมากขึ้นจากต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์นี้โดยเร็วที่สุด

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีนโยบายที่เข้มงวดอย่างมากกับการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าว เนื่องจากเน้นการพึ่งพาตนเองด้านอาหารให้ได้มากที่สุด รัฐบาลยังตั้งกำแพงภาษีสินค้าเกษตรไว้สูง เพื่อป้องกันการตีตลาดจากภายนอก

โคอิซูมิกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะปล่อยข้าวสำรองเพิ่มอีก 300,000 ตัน “ให้เร็วที่สุด” และอาจระบายเพิ่มเติมหากมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยข้าวสำรองที่รัฐบาลจำหน่ายภายใต้การตัดสินใจตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ จะวางจำหน่ายตามร้านค้า “อย่างเร็วที่สุด” ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้

ประชาชนเลือกซื้อข้าวสาร ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

อนึ่ง ราคาเฉลี่ยของข้าวสารตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกในญี่ปุ่น พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 4,268 เยน (ราว 972 บาท) ต่อ 5 กิโลกรัม หรือ 1 ถุง เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงกว่าราคาของปี 2567 ถึงสองเท่า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูร้อนของปี 2566 ที่ไม่เป็นไปตามเป้า

ขณะที่ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า ราคาข้าวสารของญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พุ่งสูงถึง 98.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มต้นเก็บข้อมูลเปรียบเทียบเมื่อปี 2514

ทั้งนี้ โคอิซูมิยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำให้ราคาข้าวสารตามร้านค้าปลีกลดลงเหลือ 2,000 เยน (ราว 455 บาท) ต่อ 5 กิโลกรัม ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และรัฐบาลมีแผนจะจำหน่ายข้าวสำรองสู่ผู้ค้าปลีกโดยตรง ยุติการประมูลที่ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมราคาได้

ผลสำรวจความคิดเห็นชาวญี่ปุ่นประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวจีจี ระบุว่า ความนิยมของประชาชนที่มีต่อนายอิชิบะและคณะรัฐมนตรีลดลง 2.2% จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา เหลือเพียง 20.9% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่อิชิบะรับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สวนทางกับคะแนนการไม่ยอมรับที่เพิ่มขึ้น 1.7% เป็น 52.9%

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ผู้นำญี่ปุ่น

เหตุผลส่วนใหญ่ของชาวญี่ปุ่นที่ไม่ยอมรับอิชิบะเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวิกฤติราคาข้าวแพงที่ยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม เหตุผลของฝ่ายที่ยังสนับสนุนอิชิบะก็มีความน่าสนใจ แม้จะไม่พอใจการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเช่นกัน แต่ 9.2% ของกลุ่มตัวอย่างมองว่า “ตอนนี้ยังไม่มีผู้เหมาะสมคนอื่นที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแทนอิชิบะ” และอีก 5.4% เห็นว่า “อิชิบะยังคงไว้ใจได้”

แม้จะเป็นคะแนนสนับสนุนที่ไม่มากนัก แต่ความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มนี้สะท้อนว่า หากสามารถคลี่คลายวิกฤติราคาข้าวได้ อิชิบะมีโอกาสสูงที่จะรักษาเก้าอี้ผู้นำญี่ปุ่นเอาไว้ได้ ทว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป ความไม่แน่นอนย่อมเพิ่มขึ้น และอนาคตทางการเมืองของอิชิบะอาจต้องปิดฉากเร็วกว่าที่คาดคิด ไปพร้อมกับข้าวที่หายไปจากโกดังสำรอง แต่ไม่ถึงมือของประชาชน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES