เพราะคนใกล้ชิดเกี่ยวข้องกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้การขอความช่วยเหลือ หรือจะเข้าไปช่วยเหลือไม่ง่ายนัก จากรูปแบบความสัมพันธ์ที่คนภายนอกไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่งผลให้บางกรณีกว่าจะได้รับการช่วยเหลือก็ถูกกระทำจนบอบช้ำมานาน

ในโอกาสที่เดือน พ.ย.ของทุกปี ถูกยกให้เป็นเดือนของการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และวันที่ 25 พ.ย. ถูกกำหนดให้เป็น วันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว ล่าสุด มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าจะสร้างความตระหนัก และย้ำเตือนถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กมากขึ้น

พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ พยาบาล (สบ5) กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่าในส่วนของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างปี 2560-2562 มีผู้เข้ารับการช่วยเหลือรวม 1,926 คน แยกเป็นรายปี ดังนี้

ปี 2560 ผู้ป่วยทั้งหมด 659 ราย เป็นหญิง 630 ราย ชาย 29 ราย

ปี 2561 ผู้ป่วยทั้งหมด 643 ราย เป็นหญิง 590 ราย ชาย 53 ราย

ปี 2562 ผู้ป่วยทั้งหมด 624 ราย เป็นหญิง 567 ราย ชาย 57 ราย

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำจะอยู่ในช่วงอายุ 0-15 ปี โดยเด็กผู้หญิงมักถูกกระทำรุนแรงมากกว่าเด็กผู้ชาย รูปแบบการใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงทางเพศ และการทำร้ายร่างกายและจิตใจทุกรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลศูนย์พึ่งได้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ห้วงเวลา 16 ปี ระหว่างปี 2547-2563 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับการช่วยเหลือ 1,307 ราย และมีแนวโน้มพบการกระทำรุนแรงเด็กเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กล่าวต่อว่า ในกลุ่มเด็ก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติเพื่อขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น แยกตัว เซื่องซึม ฝันร้าย หากเป็นเด็กเล็กอาจบ่นเจ็บอวัยวะเพศ กลุ่มนี้ผู้ปกครองควรสังเกตเพิ่มเติมว่ามีลักษณะบวมแดง มีเลือดออกหรือไม่ หรือกรณีได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลืออย่าเพิกเฉย แต่ควรสอดส่องเพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที ซึ่งช่องทางช่วยเหลือมีหลายช่องทางฉุกเฉินผ่านสายด่วน อาทิ 191, 1599, 1300 สายด่วน พม. หรือเพจ Because We Care

สำหรับศูนย์พึ่งได้ มีกระบวนการช่วยเหลือเมื่อเข้าสู่ระบบจะมีทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ชันสูตร พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ทำงานร่วมกันในลักษณะ ส่วนใหญ่กลุ่มที่เข้ามาต้องการความช่วยเหลือในด้านคดี ร่างกาย จิตใจ และสังคม

ทั้งนี้ จากสถิติผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงที่เข้ารับบริการศูนย์พึ่งได้ทั่วประเทศ ในปี 2561 มีเฉลี่ยวันละ 36 คน เกินครึ่ง หรือร้อย 57.98 ถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายโดยคนใกล้ชิดอย่างคู่สมรส หรือแฟน รองมาจากสภาพแวดล้อม ร้อยละ 23.30 จากการใช้สารกระตุ้น 22.93 เป็นต้น สาเหตุมักมาจากปัญหาความสัมพันธ์ เช่น หึงหวง นอกใจ และทะเลาะวิวาท

ปัจจัยเสี่ยงมี 4 ด้าน ประกอบด้วย

ด้านบุคคล เช่น เคยอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง มีประวัติถูกกระทำความรุนแรง มีปัญหาสุขภาพจิตหรือกาย

ด้านพฤติกรรม เช่น ติดการพนัน มีหนี้สิน อารมณ์ร้อน โมโห ฉุกเฉียว หงุดหงิดง่าย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด

ด้านความสัมพันธ์ เช่น มีความขัดแย้งภายในครอบครัว มีทัศนคติเพศชายเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือกว่า ทั้งพละกำลัง การศึกษา รายได้ แต่งงานหรือมีลูกตอนอายุน้อย

ด้านชุมชน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและชุมชนน้อย มีเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างคนในชุมชน เป็นชุมชนแออัดมีอัตราว่างงานสูง

จากสรุปรายงานการป่วย ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2561 พบว่าสถานการณ์ใช้ความรุนแรงในผู้หญิงส่วนใหญ่ร้อยละ 43.09 ถูกทำร้ายทางร่างกาย โดยการถูกทำร้ายถือเป็นสาเหตุการป่วยอันดับ 7 ของการบาดเจ็บภายนอก ผู้หญิงมีอัตราการป่วยเป็นอันดับ 10 ของการป่วยด้วยสาเหตุภายนอก และสถานที่เกิดเหตุพบมากสุดคือ บ้าน และบริเวณบ้านมากถึงร้อยละ 47.27

ขณะที่ข้อมูล การเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2561 สามารถจำแนกการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายในเพศหญิง ตามวิธีที่ถูกทำร้าย พบว่ามากสุดคือ การถูกทำร้ายด้วยกำลัง ร้อยละ 43.09 รองมาร้อยละ 21.31 การถูกทำร้ายด้วยวัตถุไม่มีคม, ร้อยละ 14.83 การถูกทำร้ายด้วยวัตถุมีคม, ร้อยละ 8.48 การถูกทำร้ายด้วยวิธีที่ไม่ระบุรายละเอียด, ร้อยละ 4.68 การถูกทำร้ายด้วยกระสุนปืนอื่นและที่ไม่ระบุรายละเอียด, ร้อยละ 3.27 การถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังกาย ร้อยละ 1.07 กลุ่มอาการได้รับการทารุณอื่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลน่าตกใจเฉพาะปี 2561 มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง 13,248 คน เสียชีวิตจากการถูกทำร้าย 214 คน!!!

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]