สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ปลดล็อก เสนอรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนหาซื้อชุดตรวจโควิดมาตรวจได้ด้วยตัวเอง

ชุดตรวจนี้ เรียกว่า แรบิด แอนติเจน เทส (Rapid Antigen Test) เป็นชุดตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธีเก็บตัวอย่างจากทางจมูก และน้ำลาย ทำได้ง่าย รู้ผลเร็ว เพื่อลดการแออัด

เป็นผลจากภาพข่าวทางโซเชียลและหน้าหนังสือ พิมพ์ที่ประชาชนต้องกางเต็นท์นอนรอตรวจกันตั้งแต่กลางดึก และหลายโรงพยาบาลก็ปฏิเสธที่จะตรวจโควิด เพราะเตียงเต็มรับผู้ติดเชื้อเป็นคนไข้ต่อไม่ไหวแล้ว

หลังจากนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐ และเอกชน หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. คลินิกชุมชนอบอุ่น สามารถให้บริการตรวจหาเชื้อคนที่มีอาการและประวัติเสี่ยงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ประชาชนที่พอมีกำลัง คิดว่าตัวเองสุ่มเสี่ยงก็ไปหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป คลินิก คาดว่าจะมีราคาอยู่ที่ชุดละ 300-400 บาท

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และมหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจหาเชื้อเชิงรุกกระจายในกรุงเทพฯช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ตั้งเป้าตรวจให้ได้วันละ 10,000-12,000 คน

ไม่รวมโครงการของสำนักงานประกันสังคมที่จัดพื้นที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ตรวจหาเชื้อให้ผู้ประกันตนที่ยื่นลงทะเบียนไว้ ยังไม่รวมของกรุงเทพมหานครที่ออกตรวจอีก

ที่ผ่านมาตรวจหาเชื้อได้เยอะแค่ไหน เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานเอาไว้ ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วง 20-26 มิถุนายนที่ผ่านมา ตรวจรวม 469,505 ราย พบติดเชื้อ 32,864 ราย 

ตรวจเฉลี่ยวันละประมาณตัวเลขกลมๆ 68,000 ตัวอย่าง ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 6 กรกฎาคม ประมาณ 71,000 ตัวอย่าง

หลังจากนี้ การตรวจหาเชื้อจะทำได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้ารัฐบาลมีงบประมาณ ซื้อแจกประชาชนให้ไปตรวจเองเลย ยิ่งดี

เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ยิ่งตรวจมาก ก็ต้องทำใจยอมรับด้วยว่า สัดส่วนหรือจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยิ่งพุ่งสูงขึ้นมากทีเดียว

ถ้าดูตัวเลขจากเว็บกรุงเทพธุรกิจ เปอร์เซ็นต์การตรวจเจอถึง 6.99 เปอร์เซ็นต์ ถ้ายิ่งเปิดตรวจได้มาก แค่วันละ 2-3 แสนคนก็แล้วกัน  ลองคิดอัตราส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อกันเอาเองละกัน

ตรวจเยอะแล้ว ตอนนี้ต้องมีกักตัวที่บ้านแน่ๆ จะทำอย่างไรที่ให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในบ้าน หรือศูนย์กักตัวของชุมชนได้สะดวก ปลอดภัยอย่างไร การวัดค่าออกซิเจน การส่งยา ปรึกษาแพทย์ เหล่านี้ต้องบริหารจัดการดีๆ มากกว่า  

อย่าช็อกจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว  ไม่อย่างนั้นคงช็อกทุกวันจนหัวใจวายตายเองแน่.

———–
ชายธง