ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมไทย 3 ธันวาคม 2564  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิด “ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.)

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวในพิธีเปิดศูนย์ ว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรไทย จึงมุ่งยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อมให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) ผ่านการขับเคลื่อนทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จึงได้จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิชาการที่ตอบโจทย์บริบทของสังคม เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เป็นแนวทางการทำงานเชิงพื้นที่ โดยมีแนวทางการทำงานที่สำคัญ 4 ด้าน ดังนี้ 1.สร้างความรู้ ความเข้าใจในการปกป้องสุขภาวะ และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนชุมชน องค์กร และเครือข่าย เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม 3.พัฒนาระบบบริการและสนับสนุนเครื่องมือป้องกันสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม และ 4.พัฒนามาตรการ นโยบายสาธารณะ และกฎหมายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

ปัญหาเรื่องฝุ่นถือเป็นเรื่องใหญ่ที่องค์กรเดียวเอาไม่อยู่ ถึงเวลาที่ต้องประสานข้ามภาคส่วน และเชื่อมโยงทั้งรัฐและเอกชน ท้องถิ่น และวิชาการ วิชาการเป็นกระดูกสันหลังของการขับเคลื่อน บทเรียน20ปีของสสส.ได้ชี้บ่งถึงความสำคัญส่วนนี้เรียกว่าไตรพลัง พลังปัญญา พลังวิชาการจะหนุนเสริมสังคมที่จะขับเคลื่อนพลังนโยบายผู้จัดการกองทุน สสส.

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่าจากรายงานของค์การอนามัยโลกในปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 7 ล้านคนทั่วโลกกับโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าเป็นโรคหัวใจ ปอดอักเสบ หลอดเลือดทางสมอง เป็นภาวะที่เตือนทุกคนว่าเราไม่ควรอยู่นิ่งเฉย ขณะที่ตัวเลขของประเทศไทยกรมอนามัยรายงานว่าประชากร 38 ล้านคนอยู่บนพื้นฐานบนค่าละอองฝุ่นขนาดเล็กที่เกินไปเป็นจำนวนมาก ใน 38 ล้านคน 15 ล้านคนเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่บนพื้นฐานของความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานของการเข้าถึง สภาพที่ปลอดภัย การจัดการไม่ว่าจะขาดหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพ เหล่านี้คือเสียงเตือนในการเร่งจัดการปัญหา สสส.โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ได้ทำงานร่วมกับภาคีต่างๆเพื่อทำงานสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อเป็นฐานของวิชาการ

นายชาติวุฒิ กล่าวว่า สสส. เน้นขยายผลจากระดับปัจเจกหรือระดับพื้นที่ นำไปสู่การผลักดันนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในโรงเรียนภาคเหนือ 30 แห่ง มุ่งสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหา PM 2.5 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เชื่อมโยงไปสู่ครอบครัว และคนในชุมชน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดสภาลมหายใจ 8 จังหวัดภาคเหนือ ขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในระดับภูมิภาค เช่น ลดการเผาภาคเกษตร จัดทำแนวกันไฟชุมชน การจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) ครั้งนี้ ถือเป็นการรวมนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ พร้อมสื่อสารชี้นำสังคม และสนับสนุนมาตรการ นโยบาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างตรงจุด

นับว่าเป็นความมุ่งมั่นของ สสส.ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมของของประเทศไทยเพื่อให้ทุกคนได้มีลมหายใจสะอาด

รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า ศวอ. อยู่ระหว่างการพัฒนา “โปรแกรมการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ” ที่ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องมือการบริหารจัดการที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการสูญเสียด้านสุขภาพ ประเมินการสูญเสียด้านเศรษฐกิจ จัดลำดับความสำคัญแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ นำไปสู่มาตรการจัดการมลพิษอากาศเชิงพื้นที่ อาทิ การควบคุมมลพิษจากการจราจรขนส่ง ผลักดันมาตรการกำหนดพื้นที่มลพิษต่ำ โดยส่งเสริมการใช้รถมลพิษต่ำ รถไฟฟ้า รวมถึงการดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า การควบคุมมลพิษจากการเผาในที่โล่ง ผลักดันมาตรการลดการเผาป่าและเผาในที่โล่ง โดยส่งเสริมการใช้รถตัดอ้อย และวิธีไถกล

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ccas.or.th/ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “รู้ทันฝุ่น” www.facebook.com/CCAS.EEAT