ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย.ปีนี้ ที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ “จี7” ร่วมกันประกาศแผนยุทธศาสตร์ “บิลด์ แบ๊ก เบตเทอร์ เวิลด์” หรือ “กลับมาสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า” (Build Back Better World) เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “บีทรีดับเบิลยู” (B3W)

แถลงการณ์ของจี7 ที่ประกอบด้วย สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น ตลอดจนสหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่า ร่วมกันจัดตั้งโครงการดังกล่าว “เพื่อให้เป็นทางเลือกที่กว่า” เมื่อเทียบกับแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ด้วยการที่จี7 จะเป็น “พันธมิตรที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้” ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ผ่านการมอบความช่วยเหลือในหลากหลายรูปแบบ เพื่อลดเพดานงบประมาณที่กลุ่มประเทศกำลังพีฒนาต้องการรวมกันมากถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,354.52 ล้านล้านบาท) “ให้ได้มากที่สุด” ภายในปี 2578 ครอบคลุมทั้งด้านสาธารณสุข เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ

DW News

ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของอียู เผยแผนการลงทุนมูลค่า 300,000 ล้านยูโร (ราว 11.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานอีซี ประกาศอย่างตรงไปตรงมา ว่าเป็น “ทางเลือกที่ดีและสมเหตุสมผล” กับแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือบีอาร์ไอของจีน อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ “เป็นมิตรมากกว่า” กับสิ่งแวดล้อมและระบบสาธารณสุข

นอกจากนี้ ฟอน แดร์ เลเยน ยืนยันว่า ทุกขั้นตอนของโครงการจะเต็มไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลในระดับสูง กระจายผลประโยชน์ไปยังทุกประเทศที่ร่วมโครงการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แม้ยังไม่มีการเปิดเผยพื้นที่เป้าหมายอย่างชัดเจน แต่แหล่งข่าวในอียูให้ข้อมูลว่า ทวีปแอฟริกาจะเป็นเป้าหมายแห่งแรกของการดำเนินงานในโครงการนี้

ทั้งนี้ จีนเริ่มแผนบีอาร์ไอ เมื่อปี 2556 ตามแนวคิดริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มุ่งเน้นการขยายโครงข่ายการลงทุนและการพัฒนาออกจากจีน สู่นานาประเทศในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา โดยจนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 100 ประเทศลงนามร่วมเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลปักกิ่งในโครงการนี้ ด้านกลุ่มประเทศตะวันตกหลายแห่งยังคงวิจารณ์โครงการนี้ คือกลไกขับเคลื่อนอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นการ “สร้างกับดักหนี้อย่างยั่งยืน”

ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่า ประเทศตะวันตก “ทำแบบเดียวกัน” ในยุคล่าอาณานิคม ที่จีนเป็นเป้าหมายมาแล้วเช่นกัน นายจาง หมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำอียู กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่ง “ยินดีต้อนรับ” แผนยุทธศาสตร์ของอียูในเรื่องนี้ หากเป็นโครงการที่ “เปิดกว้างและมีความจริงใจ” ในการช่วยเหลือบรรดาประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม จีนยืนกรานคัดค้าน “ความพยายามซ่อนเร้น” ที่เป็นการอาศัยโครงการพัฒนาเหล่านี้ เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้างผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP