ยินดีต้อนรับรถไฟฟ้าสายใหม่ล่าสุด เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดประชุมสัมมนาและทดสอบความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) โครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค 

โดยนำเสนอข้อมูลโครงการ ด้านวิศวกรรมเศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการลงทุน และความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของรัฐ และเอกชน (PPP) พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษา และจัดทำโครงการให้เหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ  

นายสาธิต มาลัยธรรม ที่ปรึกษาโครงการฯ บอกว่า โครงการระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร(กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท มี 14 สถานี เป็นสถานียกระดับทั้งหมด เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ (เฟส) ประกอบด้วย เฟสที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กม. และเฟสที่ 2 ธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กม.

จะสรุปผลการศึกษาฯ แล้วเสร็จประมาณเดือน ก.พ.65 จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในปี 66 เปิดประมูลปี 67 ได้ผู้รับจ้างปี 68 ก่อสร้าง 4 ปี (ปี 68-71) เปิดบริการเฟสที่ 1 ปี72  

รูปแบบโครงการเป็นรถไฟฟ้ารางเบายกระดับตลอดเส้นทาง ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็ว 80 กม./ชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ 1 ชม., 1 ขบวนสูงสุด มี 4 ตู้ รองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000-30,000 คน/ชม. คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 72 จะมีประชาชนใช้บริการ 56,170 คน/เที่ยว/วัน และปี 76 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 113,979 คน/เที่ยว/วัน และในปี 78 หากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 138,984 คน/เที่ยว/วัน 2576 และจะเพิ่มเป็น 3.95 แสนคน/เที่ยว/วัน ในปี 2611 และสูงขึ้นเป็น 4.98 แสนคน-เที่ยว/วัน ในปี 2621

ส่วนอัตราค่าโดยสารใช้หลักเกณฑ์การคิดตามระยะทางเหมือนกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ โดยค่าแรกเข้าอยู่ที่ 14.5 บาท และคิดตามระยะทาง 2.4 บาทต่อ กม. เก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท แต่เป็นราคาที่คิดในปัจจุบัน เมื่อรถไฟฟ้าเปิดบริการปี 72 จึงทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 2.5% โดยค่าแรกเข้าจะอยู่ที่ 17.5 บาท และค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 45-48 บาท 

คาดการณ์ตลอด 50 ปี รถไฟฟ้า LRT สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะมีผู้โดยสาร 4.7 พันล้านคน/เที่ยว/วัน และมีรายได้จากผู้โดยสารประมาณ 3.76 แสนล้านบาท       

นายสาธิต บอกด้วยว่า รถไฟฟ้า LRT สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางให้ประชาชน พร้อมเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางระบบรางให้สมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีบางนา และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงพัฒนาการ-สำโรง ที่สถานีศรีเอี่ยม รวมทั้งเชื่อมสู่เข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ที่สถานีสุวรรณภูมิใต้ ในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีเหลือง จะจัดทำสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารด้วย 

สำหรับแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณสี่แยกบางนา จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามทางคู่ขนานถนนบางนา-ตราด ผ่านทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม เข้าสู่เขต จ.สมุทรปราการ ผ่านทางแยกต่างระดับกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก ทางแยกต่างระดับกิ่งแก้ว และบริเวณด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ ที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามถนนสุวรรณภูมิ 3 มาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ 

แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เบื้องต้นมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. รูปแบบ PPP Net Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนซื้อรถไฟฟ้า และก่อสร้างงานระบบ โดยรัฐให้สิทธิเอกชนเป็นผู้รับรายได้ และเอกชนจ่ายค่าสัมปทาน หรือส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 2.รูปแบบ PPP Gross Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนซื้อรถไฟฟ้า และก่อสร้างงานระบบ รัฐรับรายได้ผ่านเอกชน และจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน 

และ 3.รูปแบบ PPP Modified Gross Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนซื้อรถไฟฟ้า และก่อสร้างงานระบบ รัฐรับรายได้ผ่านเอกชน และจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน และได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

ถ้าทำได้ตามไทม์ไลน์ คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าน้องใหม่เฟสแรกจากแยกบางนา-ธนาซิตี้ ปี 72 จดบันทึกเป็นรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบาสายแรกของไทย จากปัจจุบันที่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส และเอ็มอาร์ที เป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง & ชมพู เป็นโมโนเรลสายแรก (ขนาดเบาแต่ใช้รางเดี่ยว) 

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง