นี่คือคำบอกเล่าของชายผู้อาศัยอยู่ในเมืองย่างกุ้ง เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสโควิด-19 แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือนชุดก่อนภายใต้การนำ ของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งต้องถูกโค่นลงจากอำนาจ เพราะการรัฐประหารเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมานั้น ได้พยายามที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดระลอกสอง ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว ด้วยการออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด เช่น ห้ามเคลื่อนย้ายเดินทาง ปิดพื้นที่ในย่างกุ้ง ห้ามการหาเสียงในพื้นที่แพร่ระบาด ซึ่งมีการล็อกดาวน์ หรือปิดตายพื้นที่ด้วย

ผู้นำออง ซาน ซูจี ปรากฏตัวทางโทรทัศน์ ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว แต่ก็ขอร้องอย่างน่าเห็นใจขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนวัคซีนป้องกันก็ได้รับการจัดสรรมาจากอินเดียกับจีน และเป้าหมายก็คือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนก่อน

การรัฐประหารโค่นนางซูจีลงจากอำนาจด้วยฝีมือของกองทัพ นำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงเป็นวงกว้าง และเจ้าหน้าที่การแพทย์ก็เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของขบวนการต่อต้านด้วยการแสดงอารยะขัดขืน ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายและข้าราชการพลเรือน อย่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้ง

โรงพยาบาลทหารยังคงให้บริการต่อไป แต่หลายคนเลือกที่จะไปใช้บริการ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ได้แก่แพทย์ และพยาบาลที่ต่อต้านการรัฐประหารได้หันมาทำคลินิกชั่วคราว ซึ่งก็เสี่ยงที่จะต้องถูกจับ ขณะที่การจัดฉีดวัคซีนก็เป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

เซยาร์ ตุน ผู้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวในชื่อ คลีนย่างกุ้ง ช่วยตั้งศูนย์กักกันโรคบอกว่า ไม่มีคนฉลาดจิตใจดีและปรารถนาความจริง ที่อยากทำงานภายใต้รัฐบาลทหารหรอก สมัยรัฐบาลซูจีทั้งรัฐบาลและอาสาสมัครทำงานร่วมมือกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่ถึงตอนนี้ยากที่จะไปคาดเดาว่า อนาคตข้างหน้าภายใต้รัฐบาลทหารจะเป็นอย่างไร

ภาพข่าวที่คนไปรอคิวขอซื้อออกซิเจนในเมืองกะลาย ภูมิภาคสะกาย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ สะท้อนให้เห็นความจริงว่า ระบบสาธารณสุขของเมียนมา ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศสั่นคลอนที่สุดของโลกก็ว่าได้ กำลังทรุดหนัก

CNA

สเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกสหประชาชาติ แถลงว่า เมียนมาทำให้เพื่อนสมาชิกสหประชาชาติพากันวิตกกังวลว่า จะมีการระบาดรุนแรงจนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งผลกระทบรุนแรงที่ตามมา คือสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ จึงย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องนำระบบให้บริการสาธารณสุขกลับคืนมา ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และเร่งรัดการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเร็ว

จนถึงขณะนี้ กล่าวได้ว่าประชาชนในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์กำลังมีปัญหา เรื่องการจัดหาออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลใหม่ของเมียนมา ได้สั่งการให้โรงงานผลิตออกซิเจนเร่งดำเนินการเรื่องการผลิตออกซิเจนอย่างเต็มกำลัง เช่น ปรับปรุงการผลิต โดยดัดแปลงแก้ไขจากอุตสาหกรรมใกล้เคียง

อ่อง เนียง ออ รัฐมนตรีการลงทุนและการต่างประเทศของเมียนมา รับทราบคำสั่ง จึงมีคำสั่งลดภาษีนำเข้า และข้อกำหนดใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าเครื่องผลิตออกซิเจน

ข้อมูลการจัดฉีดวัคซีนแม้จะยังไม่ชัดเจน แต่ตรวจสอบได้ถึงเดือนที่แล้วพบว่ามีเพียง 3.5 ล้านโดสเท่านั้น ที่จัดฉีดให้กับประชากรของเมียนมาที่มีทั้งหมด 55 ล้านคน หมายความว่ามากที่สุดของประชาชนก็ตกราว 3.2% เท่านั้น ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม

รายงานของกลุ่มช่วยเหลือ รีลิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ของเมียนมา คือขาดการตรวจคัดกรอง ศักยภาพการตรวจหาเชื้อ และการฉีดวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งการให้ปิดสถานศึกษาทั้งหมด 2 สัปดาห์ คำสั่งล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ในบ้านสำหรับพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรงในหลายพื้นที่ รวมทั้งย่างกุ้ง และตั้งโรงพยาบาลสนาม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP