ขณะนี้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีสีสันมากคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งหลายคนก็อยากให้เลือกกันเร็วๆ เพราะช่วงหาเสียงเป็นอะไรที่ได้เห็นแต่ละคนโชว์วิสัยทัศน์ สร้างความหวังการพัฒนาเมือง และการหาเสียงเลือกตั้งก็เป็นปัจจัยหนึ่งให้เกิดเงินสะพัดหรือเกิดความคึกคักในเมือง หลังจากที่เงียบๆ ไปร่วมสองปีจากเหตุโควิดระบาด การจ้างทีมงาน การลงพื้นที่อะไรต่างๆ ตลอดจนการแข่งขันปลุกเมืองได้ดี

เปิดหน้ามาแต่ไก่โห่ว่า ..เอาแน่..คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เป็นขวัญใจชาวเน็ตแซวว่าเป็น “รัฐมนตรีที่แกร่งที่สุดในปฐพี” รูปหิ้วถุงแกงไม่ใส่รองเท้าตั้งแต่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่อนไปทั้งเน็ต กระแสชัชชาติมาแรง จากที่ถามคนชอบๆ เขาก็บอกว่า “เพราะถ้ารัฐบาลปูไม่โดนทำรัฐประหารไปก่อน โครงการของชัชชาตินี่จะทำให้ประเทศไทยเจริญ” คือโครงการรถไฟความเร็วสูงวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ( ออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ) มีการเชื่อมการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไปทางหนองคาย

เขาเอามาเปรียบเทียบว่า พอมาดูรัฐบาลนี้ โครงการรถไฟก็ทำช้า ตุ๊บป่องๆ ไปเรื่อย ของจีนทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมลาวไปแล้ว แล้วเมื่อไรจะได้เชื่อมอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ? เท่ากับว่าไทยเสียโอกาสไปหลายปี ..แล้วก็มีเหตุผลอะไรอีกต่างๆ นานาที่จะชอบชัชชาติ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไม่เอารัฐบาล อยากเปลี่ยนมันให้พ้นๆ แต่ก็ไม่รู้จะเลือกตั้งใหญ่เมื่อไร พอได้โอกาสก็แสดงออกทางเวทีท้องถิ่น ..กรุงเทพฯ นี่แทบจะเป็นพื้นที่วัดกระแสความนิยมของพรรคใหญ่ระดับชาติได้

เปิดแนวคิดมาก็ดูน่าสนใจดี ชัชชาติชูแนวคิดเรื่อง“เส้นเลือดฝอย” ซึ่งอ่านทำความเข้าใจดูก็เหมือนกับเป็นการให้ความสำคัญกับอนุภาคเล็กๆ ในเมือง ไม่ใช่มุ่งแค่การสร้างอะไรใหญ่ๆ ที่เป็นเมกะโปรเจคส์ จุดเล็กๆ ก็ต้องทำให้ดี ..เขายกตัวอย่างว่า ในกรุงเทพมีสถานที่ที่เป็นศูนย์กลาง ( ที่ฝ่ายต่างๆ เข้าไปพัฒนาง่ายอยู่แล้ว ) อย่างเช่นสวนสาธารณะ ก็มีสวนใหญ่เยอะอย่างสวนลุมพินี สวนรถไฟ และสวนเบญจกิติจากโรงงานยาสูบก็จะเปิด แต่ส่วนที่เป็น “เส้นเลือดฝอย” คือสถานพักผ่อนหย่อนใจในชุมชนเล็กๆ ที่ยังมีสภาพทรุดโทรมก็ต้องได้รับการดูแล

ในด้านคุณภาพชีวิตคือโรงเรียน โรงเรียนดังๆ ใหญ่ๆ ในสังกัด กทม.มีมาก แต่“เส้นเลือดฝอย”คือศูนย์อนุบาล เลี้ยงดูเด็กตามชุมชนที่ยังมีไม่พอกับความต้องการ หรือในเรื่องสถานพยาบาล กทม.มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่สิบกว่าแห่ง  แต่ศูนย์สาธารณสุขอีกหลายศูนย์ที่สังกัด กทม. ก็ยังให้บริการได้ไม่เต็มที่จากภาวะขาดแคลนบุคลากรหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์  แนวคิดนี้คือการฟื้นฟูจากส่วนเล็กๆ เพื่อความแข็งแรงขององคาพยพขนาดใหญ่

คู่แข่งที่เปิดหน้าแล้วคือ “พี่เอ้ ลาดกระบัง” นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ลงชิงตำแหน่งพ่อเมือง กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคเองไม่ได้เป็น“ขวัญใจชาวเน็ต”นัก ทำให้พี่เอ้เปิดตัวได้สองวันเรียกว่า ..ดราม่าบาน..ก็ต้องรอดูว่าพี่เอ้จะล้างภาพที่คนไม่ค่อยชอบได้อย่างไร แต่คงได้บทเรียนไปว่า ตอนนี้อะไรที่เป็นขั้วเดียวกับรัฐบาล สังคมโซเชี่ยลฯ ไม่ชอบ พี่เอ้หาเสียงเริ่มแรกก็พูดถึงการพัฒนาภูมิทัศน์ ทางเท้า แก้ปัญหามลพิษ ..แต่ด้วยความรู้สึก โครงการของพี่เอ้ยังไม่มีบุคลิกชัดเหมือนนโยบาย“เส้นเลือดฝอย”ของชัชชาติ  และยังพูดถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขครอบจักรวาลเกินไป

การหาเสียงเลือกผู้ว่าฯ กทม. ก็จะวนๆ กันอยู่ที่เรื่องทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม จัดการเก็บขยะอย่างไร แล้วสายสื่อสารน่าเกลียดทั่วเมืองเอาอย่างไร มลพิษอีกล่ะ.. ส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิสัยทัศน์ ซึ่งต้องเข้าใจว่า การเลือกผู้ว่าฯ กทม.นี่ไม่ได้พัฒนาเมืองได้ระดับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังตีน  เพราะอะไรต่างๆ ที่อยู่ใน กทม. ไม่ได้ขึ้นกับ กทม. อย่างถนนก็ไปอยู่กับคมนาคม กทม.ดูแค่ เรื่องทางเท้า  ไฟฟ้า ประปา ก็ไปอยู่กับมหาดไทย

การพัฒนาเมืองจึงมักจะต้องเป็นโครงการที่ออกมาจากส่วนกลาง เช่นพวกเมกะโปรเจคส์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนน นโยบายจราจร ของพวกนี้จะออกมาจากกระทรวง มติ ครม.อะไรก็ว่าไป อย่างการพัฒนาคลองแสนแสบ คลองหลักใน กทม.แท้ๆ แต่กลายเป็นว่า เป็นงานในการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพิ่งอนุมัติงบประมาณไปเป็นหลักหมื่นล้าน หรือบางเรื่องก็ต้องออกเป็นกฎหมาย  

ดูเหมือนพรรคก้าวไกลจะมีความเห็นในเชิงว่า “งานของ กทม.มันเชื่อมกับการเมืองระดับชาติ” ตีความตามที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคพูด ทำนองว่า การบริหารงาน กทม.จะต้องประสานกับงานนิติบัญญัติในสภาอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งพรรคก้าวไกลมี ส.ส.กทม.จำนวนหนึ่ง ( คงเอื้อต่อการประสานงาน ) ..ชัยธวัชย้ำว่า การแก้ไขปัญหา กทม.จะต้องประสานงานกับสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย     

ทำให้พรรคก้าวไกลจะส่งผู้สมัครในนามพรรคเอง จะเปิดตัวราวๆ กลางเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งจะเปิดแบบพร้อมใช้คือเปิดพร้อมนโยบาย โดยไม่สนใจว่าจะเป็นฐานผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มเดียวกับชัชชาติ ( คือกลุ่มไม่ชอบนายกฯ และรัฐบาลนี้เหมือนกัน ) เพราะถือว่า ถ้าจะต้องห่วงเรื่องตัดคะแนนกันคงไม่มีการส่ง ส.ส.ลงสมัครแต่แรก ดังนั้นควรจะต้องมาวัดกันที่นโยบายดีกว่า ก็มีเวลาหาเสียง ถ้ารอให้แก้กฎหมายให้มีสมาชิกสภาเขต ( ส.ข.) กลับมา ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พูด ถ้ากฎหมายเข้าทันสมัยประชุมนี้ก็กาบัตรได้ราวๆ มี.ค.- เม.ย.ถ้าไปสมัยประชุมหน้าก็ราว ๆ มิ.ย.-ก.ค.

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอยู่ที่ไม่เกิดการ“ฮั้ว”ทางการเมือง เลือกตั้งสนามใหญ่ขนาดนั้นควรแข่งกันด้วยนโยบาย ..ข้างฝั่ง พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ก็ไม่อยากทิ้งสนามนี้ แต่ยังยักแย่ยักยันอยู่ว่าจะส่งใคร มีชื่อถูกโยนหินถามทางมาอาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เคยมีรายงานข่าวมาก่อนว่า เป็น 1 ใน 3 คนที่พรรคเสนอชื่อขึ้นมาว่าจะสนับสนุน อีกคนคือนางนวลพรรณ ล่ำซำ ที่เคยมีข่าวมาเนิ่นนานมากแล้วว่าอาจเป็นแคนดิเดตในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่มาดามแป้งปฏิเสธ

พอลองมาดูปัจจัยว่า “ใครจะชนะ” ก็ต้องวิเคราะห์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กรุงเทพฯ นั้นประชากรแฝงเยอะ ว่ากันว่ามีคนอยู่ในเมืองใหญ่นี้ถึงสิบล้าน แต่เอาเข้าจริงเมื่อสำรวจสำมะโนประชากร มีคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ราว 4.8 ล้านเท่านั้น ที่น่าสนใจคือจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ กรุงเทพฯไม่ได้เลือกตั้งมาร่วม 8 ปี ก็มีเด็กๆ โตขึ้นจนมีสิทธิเลือกตั้ง คาดว่าถ้าถึงวันเลือกตั้งจริงกลางปีน่าจะถึง 7 แสนกว่าคน

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใช้สื่ออินเทอร์เนต สื่อสารกันเร็ว ตามกระแส และมีปัจจัยหลายอย่างให้ไม่ชอบขั้วรัฐบาลปัจจุบันนี้  ประกอบกับคนที่เคยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วและต้องการความเปลี่ยนแปลงบ้าง อยากได้พ่อเมืองที่ไม่ได้อยู่ขั้วเดียวกับรัฐบาลบ้าง พวกนี้มีความตื่นตัวในการใช้สิทธิ์สูง เพราะไม่อยากให้คนที่ตัวเองเชียร์แพ้ ก็ออกไปใช้สิทธิ์มาก ขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นกลุ่มสูงอายุ ลุงป้าปู่ย่าตายายหลายๆ คนก็ไม่อยากออกไปใช้สิทธิ เผลอๆ ลูกหลานที่บ้านไปขอให้ไปกาให้คนที่ชอบก็ได้

ขอย้อนกลับมาถึงประชากรในกรุงเทพฯ 4.8 ล้านคน กลุ่มนี้ต้องไปหาเสียงที่ไหน ? บางทีในย่านกลางเมืองใหญ่อาจเป็นกลุ่มประชากรต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เสียเยอะ ดังนั้น ที่น่าสนใจคือ การเจาะฐานเสียงคนตามชุมชนที่อาศัยอยู่มานาน อย่างเช่นชุมชนริมคลองต่างๆ ซึ่งดูท่าทางเหมือน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันที่ยังกั๊กท่าทีไม่ประกาศว่าจะลงสมัคร ค่อนข้างเจาะเข้าหาคนในชุมชนเยอะ สังเกตได้จากการลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม ช่วยแจกจ่ายของบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด พล.ต.อ.อัศวินไปชุมชนเยอะ

เห็นว่า จุดเด่นของ พล.ต.อ.อัศวินคือ การทำเรื่องคลอง พัฒนาคลองหลายสายเพื่อให้สัญจรได้ อย่างคลองบางลำพู คลองเปรมประชากร คลองโอ่งอ่าง คลองที่ใช้สัญจรได้มักจะมีชุมชนริมคลอง ซึ่งหลายแห่งเป็นชุมชนเก่าอยู่มานาน ก็เป็นคะแนนเสียงได้ส่วนหนึ่ง ..จาก เพจ“ผู้ว่าฯอัศวิน” ก็เห็นลงพื้นที่เอง ..หรือไม่ใช่คลองโดยสารก็ไปทำภูมิทัศน์คลองสายสำคัญอย่างคลองหลอด คลองช่องนนทรีซึ่งจะเปิดเป็นสวนสาธารณะกลางเมืองที่ทุ่มงบไปเกือบพันล้าน โครงการพัฒนาทางเท้าถนนพระรามหนึ่ง , พัฒนาสวนลุมพินีอีกที่เห็นเดินหน้าทำอยู่  ก็คงเป็นผลงานไว้โชว์ถ้าเจ้าตัวจะลงสนาม   

ก็เล่าถึงภาพรวมคร่าวๆ เป็นน้ำจิ้มก่อนเปิดศึกจริงเมื่อประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ตอนนั้นคงมีอะไรสนุกอีกเยอะ.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”