เชื่อว่าหลายๆ คน คงจะเคยพบเห็นปัญหาของคนรอบตัวที่เกิดอาการ “หนังตาตก” จนมักจะคิดว่า เป็นเรื่องปกติของวันที่วัยที่อายุเพิ่มขึ้น ซึ่งในอันที่จริงแล้ว นอกจากสาเหตุที่เกิดจากกล้ามเนื้อหย่อนนั้น อาจมีที่มาจาก “ต่อมไทมัสโตผิดปกติ” แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะมีวิธีแก้โดยการผ่าตัดที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด..

โดย นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านโรคปอด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่า ในอดีตหากเห็นใครบางคนที่มีปัญหาลักษณะของหนังตาตก อาจไม่ใช่มาจากสาเหตุของกล้ามเนื้อหย่อนหรืออายุที่เปลี่ยนไปเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณใบหน้าหรือที่เรียกว่า “โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส” (Myasthenia Gravis : MG) ที่คนไทยมักนิยมเรียกว่า “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เอ็มจี”

ซึ่งโรคนี้ “เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไปทําลายตัวรับสัญญาณประสาทที่อยู่บนกล้ามเนื้อของตัวเอง ทําให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง” โดยปัจจุบันยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุของความผิดปกติของโรคได้ อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) คือ อาการหนังตาตก ส่งผลทำให้เห็นภาพซ้อน อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นในช่วงเช้าๆ หลังจากตื่นนอนหรือหลังจากพักหลับตา ในบางรายอาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมไปถึงระบบส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการ เช่น แขนขาอ่อนแรง เกิดอาการตะคริว รวมไปถึงส่งผลต่อการกลืนอาหาร หรือการหายใจ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจจากอายุรแพทย์ระบบประสาท
    
“ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ควรได้รับการตรวจหาภาวะต่อมไทมัสโตผิดปกติหรือเนื้องอกของต่อมไทมัสด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT chest) โดยมักจะพบร่วมด้วยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย” ในวิธีการรักษาปัจจุบันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) สามารถรักษาได้ด้วยยาที่มีออกฤทธิ์ลดการทำลายสารสื่อประสาทที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ และ “ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีเนื้องอกต่อมไทมัสควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด” ส่วนในบางรายที่ไม่มีเนื้องอกอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยหลังได้รับการผ่าตัดโดยส่วนมาก มักจะมีอาการที่ดีขึ้นและสามารถลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกันลงได้

หลายๆคนอาจจะมองว่า การผ่าตัดต่อมไทมัสนั้นน่ากลัว …แต่อันที่จริงแล้ว ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ต้องเข้าใจก่อนว่า “ต่อมไทมัส” เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณหน้าหัวใจ โดยตัวต่อมมีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันในช่วงแรกเกิด จากนั้นตัวต่อมไทมัสจะค่อย ๆ ฝ่อลงจนเป็นเพียงเนื้อเยื่อไขมันในช่วงผู้ใหญ่ “ฉะนั้นการตัดต่อมไทมัสไปจะไม่ส่งผลต่อการทำงานของระบบในร่างกาย”

โดยการผ่าตัดนั้นในอดีตได้ทำการผ่าเปิดกระดูกบริเวณหน้าอก ( Median sternotomy) แต่ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมไทมัส สามารถทำการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Video assisted thoracoscopic surgery; VATS thymectomy) แผลจุดเดียวขนาด 2.5 เซนติเมตร ข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง ระยะเวลานอนโรงพยาบาลเฉลี่ยเพียงแค่  2-3 วันเท่านั้น โดยจากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดเปิดและการผ่าตัดส่องกล้องนั้นไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของการผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของระยะเวลานอนโรงพยาบาลที่สั้นกว่า และมีสภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายน้อยกว่า อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่รักษาได้หายขาด แต่ “การผ่าตัดต่อมไทมัส ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีพัฒนาการเรื่องของกล้ามเนื้ออ่อนแรงดีขึ้น” ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการรักษาโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบการรักษาสมัยใหม่ในการรักษานั่นเอง..

…………………………..
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”