โดยมีข้อแม้ ประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันควบคุมการระบาด โดยลดความเป็นชาตินิยม และเลิกกักตุนวัคซีน

คำพูดของคนระดับผู้นำสูงสุด ขององค์กรสาธารณสุขโลก ย่อมมีนัยน่าเชื่อถือแน่นอน และน่าจะจุดประกายความ หวังของผู้คนค่อนโลก ที่กำลังทุกข์เดือดร้อนจากผลกระทบของการระบาด

ความเห็นของ นพ.เทดรอส มีขึ้น 2 ปี นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศ ยืนยันพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นครั้งแรก ที่เมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางฝั่งตะวันออกของประเทศจีน

World Health Organization (WHO)

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วโลก นับถึงวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 291.89 ล้านคน และเสียชีวิตสะสม 5.46 ล้านคน

ช่วงการฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ปีนี้บรรยากาศโดยรวมทั่วโลก ครึกครื้นน้อยกว่าปีที่แล้วอีก เนื่องจากการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” หลายประเทศทั่วโลกพยายามเตือนประชาชน ให้กลีกเลี่ยงการเข้าร่วมชุมนุม รวมกลุ่มขนาดใหญ่ ไม่ว่าในสถานที่ปิด หรือกลางแจ้ง

โควิด-19 ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้คนทั่วโลก หลายประเทศกลับมาปิดเขตแดนใหม่อีกรอบ และบังคับกักตัวนักเดินทางจากต่างแดน รวมทั้งมาตรการคุมเข้มทางสังคมอื่น ๆ

ในแถลงการณ์ปีใหม่ นพ.เทดรอสพยายามกระตุ้นความหวังของชาวโลก บอกว่า ตอนนี้นานาชาติและหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีเครื่องมืออีกจำนวนมาก ที่จะต่อสู้กับโควิด-19

แต่ความไม่เสมอภาคอย่างต่อเนื่อง ในการกระจายแจกจ่ายวัคซีน กำลังเพิ่มความเสี่ยงจากวิวัฒนาการของโควิด-19

ชาตินิยมที่คับแคบ และการกักตุนวัคซีนของบางประเทศ บ่อนทำลายความเสมอภาค และสร้างเงื่อนไขสำหรับการอุบัติของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน

ความไม่เท่าเทียมยิ่งยาวนานออกไปเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้น จากวิวัฒนาการของโควิด-19 ในแนวทางที่ไม่อาจป้องกันหรือคาดการณ์ได้

นพ.เทดรอส กล่าวย้ำว่า “หากเรายุติความไม่เสมอภาค เราก็สามารถยุติการระบาดของโควิด-19 ได้”

ผู้นำดับเบิลยูเอชโอ ยังได้กล่าวพาดพิงถึงอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลก ยังอยู่ในระดับต่ำ

องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมาย ให้ทุกประเทศทั่วโลกได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 40% ของประชากรแต่ละประเทศ ภายในสิ้นปี 2564 แต่ประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาพลาดเป้า ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม

ก่อนหน้านี้ นพ.เทดรอสกล่าววิจารณ์ หลายประเทศฐานะร่ำรวยกว่า เขมือบ (gobbling up) และกักตุน วัคซีนที่ผลิตออกมาทั่วโลก และฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ของตนจนครบโดส ขณะที่อีกหลายประเทศกำลังรอฉีดเข็มแรก

ตอนนี้องค์การอนามัยโลกประกาศตั้งเป้าหมายใหม่ สำหรับปี 2565 นั่นคือ ทุกประเทศของโลก ต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชน อย่างน้อย 70% ของทั้งหมด ภายในเดือน ก.ค. เพื่อยุติการระบาดของโควิด-19.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES