จากรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น วันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ราคาเนื้อวัวในประเทศแพง ด้วยแผนการดำเนินงาน ที่รวมถึง การตั้งกองทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (33,195 ล้านบาท) แผนช่วยเหลือชาวอเมริกัน (American Rescue Plan) เพื่อกระตุ้นการแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าเนื้อวัว รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ และบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการแข่งขันที่เป็นธรรมทางการค้า

การลงทุนของรัฐบาลไบเดน ซึ่งจะรวมถึงการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนเงินสำหรับการฝึกอบรม ออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการติดตราสินค้า และแนวทางสำหรับเกษตรกร แจ้งเบาะแสการละเมิดกฎหมายการแข่งขัน ถูกออกแบบเพื่อกระตุ้นการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ ซึ่งมีเพียงไม่กี่บริษัทขนาดยักษ์ ที่ครองความเป็นใหญ่ในตลาดของอเมริกา

ทำเนียบขาวบอกว่า การกระจุกตัว (concentration) ในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์อเมริกา คือปัญหาหลักที่ทำให้ราคาแพงขึ้นสำหรับผู้บริโภค หากมีการแข่งขันมากขึ้นจะทำให้ราคาในท้องตลาดลดลง

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่ง เผยว่า ตลาดเนื้อสัตว์อเมริกามีการแข่งขันน้อย บริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท ที่มีอำนาจเหนือตลาด สามารถกำหนดราคาได้ตามความพอใจ

นักวิเคราะห์หลายสำนัก ตั้งข้อสังเกต ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของทำเนียบขาว ตามที่ประกาศ ดูเหมือนจะง่ายดายเกินไป และไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้ราคาเนื้อวัวในตลาดลดลงได้ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

รศ.เจมส์ มิทเชลล์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเกษตรและธุรกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ บอกว่า อันที่จริงธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ในอเมริกา ถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดยักษ์เพียงไม่กี่บริษัท มานานกว่า 20 ปีแล้ว และราคาเนื้อวัวแพงในช่วงนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนปี 2563 ดังนั้นปัญหาส่วนใหญ่จึงไม่น่าจะเกิดจากการกระจุกตัวในระดับสูงของอุตสาหกรรม

ราคาเนื้อวัวแพงในระยะนี้ ปัจจัยหลักมาจากแรงกดดันเดิม ๆ นั่นคือภาวะเงินเฟ้อในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะภาวะขาดแคลนแรงงงาน อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และปัญหาทางด้านห่วงโซ่อุปทาน

สภาหอการค้าสหรัฐและอีกหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง แสดงท่าทีเห็นด้วยกับมุมมองของ รศ.มิทเชลล์

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ ระบุว่า ราคาเนื้อวัวในอเมริกา เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว สูงขึ้น 20.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

รศ.มิทเชลล์ กล่าวว่า ผู้รับแผนลงทุนของทำเนียบขาว ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาเดิมด้านแรงงาน ดังนั้นแผนช่วยเหลือชาวอเมริกัน จึงไม่น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปัญหา ที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญในซูเปอร์มาร์เก็ต

ส่วน ซาราห์ ลิตเทิล โฆษกสถาบันเนื้อสัตว์อเมริกาเหนือ (North American Meat Institute) ซึ่งเป็นองค์กรการค้า ตัวแทนบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก กล่าวว่า ปัญหาแรงงงานยังคงเป็นความท้าทายใหญ่สุด บริษัทสมาชิกองค์กร ทั้งใหญ่และเล็ก ไม่สามารถประกอบการได้เต็มกำลัง เนื่องจากไม่สามารถจ้างแรงงานระยะยาว และพนักงานประจำได้ทั้งหมดตามที่ต้องการ

ขณะที่ อดัม สเปค นักเศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์อาวุโส ของบริษัทข้อมูลตลาด  IHS Markit ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ราคาเนื้อวัวในสหรัฐแพงขึ้นช่วงนี้ เนื่องจากความต้องการบริโภคสูงขึ้นเกินปกติ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น มาตรการควบคุมการระบาด ที่ครอบคลุมถึงโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เกือบทั้งหมดด้วย ทำให้ความเร็วของสายพานการผลิตลดลง และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อผู้ประกอบการ

สเปคเชื่อว่า หากแนวโน้มความต้องการบริโภค ยังอยู่ในระดับสูง อาจจะต้องถึงปีหน้า 2566 ราคาเนื้อวัวในประเทศจึงจะลดลง กลับสู่ปกติ.                               

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES