เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ปีก่อน เฟซบุ๊กได้เด้งสเตตัสเตือนวันนี้ในรอบปี พบว่า ได้เขียนไว้ในวันดังกล่าวปี 2564 ว่า “รัฐบาลอาจต้องเตรียมรับมือยอดผู้ป่วยจากโควิด-19 ร่วมหมื่นคนต่อวัน” แล้วปี 2564 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสจริง ๆ กับการระบาดของเชื้อเดลตา จนทำให้มีผู้ป่วยสะสมขึ้นวันละเป็นหมื่นอยู่ช่วงหนึ่ง ผู้เสียชีวิตสะสมวันละเป็นร้อยคน รัฐบาลเร่งออกมาตรการอะไรมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

โรคติดต่อทางเดินหายใจเป็นโรคที่แพร่กระจายได้เร็ว เนื่องจากมีฝอยละอองน้ำลายที่ออกมาระหว่างเราพูด จาม ลอยฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศเป็นพาหะ และเกิดเอามือไปโดนละอองพาหะพวกนั้นไปจับอย่างอื่น คนอื่นมาจับหน้าตัวเองต่อก็มีโอกาสติดได้แล้ว เขาถึงได้มีมาตรการป้องกันโรคออกมาที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสจุดที่มือคนโดนมากๆ อย่างลูกบิดประตู ราวบันไดเลื่อนในห้าง และต้องใช้แอลกอฮอล์ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคฉีดตามจุดสัมผัสพวกนั้นบ่อยๆ มือเราเองก็ต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ด รักษาระยะระหว่างกันและใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเอาพาหะหรือเผยแพร่พาหะ

ขณะที่ การสั่งปิดผับ บาร์ ห้ามขายสุรา สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะสถานที่เหล่านั้นมักจะเป็น พื้นที่ปิด ซึ่งการระบายอากาศทำได้ยาก ประกอบกับการเป็นแหล่งขายสุรา ทำให้คนมีโอกาสสังสรรค์ใกล้ชิดกันได้มาก (หรือถ้าให้เรียกแบบแรงๆ คือ เมาเรื้อนใส่กันได้) การรักษาระยะห่าง ปิดสถานบริการนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้กู้เงินมาเพื่อการเยียวยา 1.5 ล้านล้านบาท ตามแผนต่างๆ ทั้งแผนการจ่ายแบบให้เปล่า แผนการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน แผนการทำโครงการให้เกิดการจ้างงาน แผนการลดค่าใช้จ่ายเช่นลดวงเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ลดภาษี

ในภาคของสาธารณสุข ปี 64 ถือว่า หนักมาก เพราะประเทศไทยไม่เคยเผชิญกับภาวะโรคระบาดใหญ่มาน่าจะร่วมร้อยปี ครั้งที่เข้าใกล้ความเป็นโรคระบาดที่สุดคือ ไข้หวัดนก ซึ่งก็ควบคุมโดยการฆ่าสัตว์ปีก ป้องกันไม่ให้ติดกระจายไปยังมนุษย์ หรือ โรคซารส์ ที่เข้ามาจากฮ่องกงก็มีการตรวจเข้มคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ .. แต่โควิดเป็นโรคที่ระบาดในคนและระบาดรวดเร็ว ถึงกระทั่งว่าบางคนยังไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองไปเสี่ยงมาจากไหน แต่อยู่ๆ ตรวจเจอ

ในปี 64 ถึงเกิดภาวะที่ เตียงล้น เตียงไม่พอ ภาคส่วนเอกชนต่างๆ อย่าง องค์กรเส้นด้าย หรืออื่นๆ ก็เข้ามาช่วยเหลือประสานงานหาเตียง การปรับแผนเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เตียงพอสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก จึงได้มีการแบ่งประเภทผู้ป่วยเป็น สีเขียว เหลือง แดง ไล่ตามความหนักของอาการ ผู้ป่วยสีแดง มักจะเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน หรือรักษาช้าจนเชื้อ โควิดเดลตา ลงปอดก็ต้องครองเตียงนาน ส่วนผู้ป่วย สีเขียว ที่เพิ่งติด ร่างกายแข็งแรงก็ให้ใช้วิธี home isolation หรือ community isolation กักตัวในบ้านหรือชุมชนโดยมี อสม.ส่งอาหารและยาให้ พร้อมระบบเทเลเมดคุยกับแพทย์

วัคซีนถูกเร่งรีบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเชื้อตายที่สามารถหาได้เร็วคือ ซิโนแวค เพื่อให้ฉีดได้ตั้งแต่ราว พ.ค.64 ก่อนจะนำเข้า mRNA ตามมา ที่ได้ล่าช้ากว่าเพราะมีความต้องการทั่วโลก ซึ่งวัคซีนนี้ต้องย้ำว่า “มันไม่ได้ป้องกันการติด 100% แต่ป้องกันอาการหนักได้ คือหากรับวัคซีนครบโด๊ส บางคนอาจเป็นแล้วหายเองโดยยังไม่รู้ตัวก็ได้ แต่ขณะเดียวกันบางคนฉีดวัคซีน ฉีดบูสถึงเข็มสามแล้วก็ยังติดได้ ตามที่มีข่าวออกมาให้เห็นประปราย และรัฐบาลทำเป้าได้สำเร็จไปขั้นหนึ่งคือการฉีดวัคซีนให้ได้ครบ 100 ล้านโด๊สในปีนี้ แต่ต้องทำต่อไปเร็วที่สุดเพราะคนที่ได้บูสเข็มสามแล้วยังไม่ถึง 20%

เมื่อราวปลายปีที่ผ่านมา เกิดข่าวที่ทำให้อกสั่นขวัญแขวนไปทั่วโลกอีกครั้งคือเชื้อโควิดเกิดการกลายพันธุ์เป็น สายพันธุ์โอมิครอน ( omicron ) เริ่มจากแอฟริกาใต้ มีคุณสมบัติสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าเดลตา แต่อาการไม่รุนแรงเท่าเพราะโอมิครอนเป็นเชื้อที่พบมากในบริเวณช่องคอหรือทางเดินหายใจ ลงปอดน้อยกว่าเดลตา ซึ่งทำให้รัฐบาลรีบออกนโยบายเพื่อป้องกันทันทีคือการสกัดนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศในเขตแอฟริกาใต้ก่อนเป็นการเบื้องต้น

เมื่อเชื้อมาจากต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยเปิด “พื้นที่สีฟ้า” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว วันที่ 21 ธ.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน ศบค.ประชุมด่วนทันที ให้เชื้อกระทบคนไทยน้อยที่สุด เริ่มจากปรับมาตรการเข้าราชอาณาจักรแบบ test&go ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64

Test&go คือ การเข้าประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัว ไทยจะรับผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนจากประเทศนำร่อง ซึ่งหากไม่ใช้นโยบายนี้ก็ต้องกลับไปใช้ State Quarantine คือ ผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกคนจะถูกกักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ ณ สถานที่กักกันโรค ไม่น้อยกว่า 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.มีการกำกับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่ขออนุมัติไว้ร่วมสองแสนคนให้ทำตามนโยบายป้องกันโควิด เอาเฉพาะชุดแรกก่อน และจะพิจารณาเพิ่มเติมการอนุมัติอีกครั้งหลังจากนี้ ในที่ประชุมปลายเดือน ธ.ค.นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่ามีความพร้อมในการดูแลโอมิครอน และแม้ว่าจะติดเชื้อได้เร็ว แต่รักษาง่าย และไม่มีผลกระทบรุนแรงถึงชีวิตมากนัก

เพียงแค่เปิดปีใหม่มา ก็พบว่า ในต่างประเทศการติดโอมิครอนพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะใน สหรัฐอเมริกาถึงวันละหลักล้าน ในฝรั่งเศสก็หลักแสน สถานการณ์ของไทยยังดีกว่า และพยายามประคองยอดตัวเลขไว้อย่างสุดความสามารถ แม้จะเชื่อได้ว่าถึงหมื่นแน่ๆ รัฐบาลควบคุมอย่างสุดความสามารถเพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจ การทำมาหากิน ผลการประชุม ศบค.ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ม.ค.65 ต้องปรับมาตรการ เพิ่มพื้นที่ควบคุมสีส้มเป็น 69 จังหวัด กิจการดำเนินการปกติได้ แต่ห้ามการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  

พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) เป็น 8 จังหวัดเหมือนเดิม ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา ภูเก็ต ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.65 เป็นต้นไป การดื่มสุราในร้านอาหารไม่เกินเวลา 21.00 น. โดยจะต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่านมาตรการ SHA Plus หรือ Thai Stop Covid 2 Plus เท่านั้น ขยายการทำงานที่บ้านถึง 31 ม.ค.65 และให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณากําหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในแต่ละพื้นที่

สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วราชอาณาจักรยังคงมีความจําเป็นให้ปิดดําเนินการไว้ก่อน

ในส่วนแผนการรักษาพยาบาลส่วนประกันสังคม ( สปส.) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ  สปส. ระบุว่า ได้หารือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิในการเข้ารับการรักษาในรพ.ตามสิทธิ์ หากเกินศักยภาพให้ส่งต่อผู้ป่วยไปยังรพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่า กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ใน สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้, รพ.สนาม, Hospitel, ศูนย์กักตัวในชุมชน หรือกักตัวที่บ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  โดยลงทะเบียนขอรักษาที่บ้านทางเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือโทร. 1330  หรือรักษาใน Hospitel ซึ่งในปัจจุบัน สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มี Hospitel จำนวน 12,856 เตียง และจำนวนเตียงว่างคงเหลือ 3,230 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ม.ค. 2565)

นอกจากนี้ยังมี โครงการ Factory Sandbox ในการตรวจ รักษา ควบคุมโรคในสถานประกอบการ โรงงาน โดยเน้นไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ คือ

  • 1. ตรวจคัดกรองด้วย RT – PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจ Self – ATK ทุกสัปดาห์
  • 2. รักษา ให้โรงงานจัดให้มีสถานรักษาพยาบาลขึ้น เป็นสถานแยกกัก (Factory Isolation : FAI, และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาล

กรณีมี อาการเล็กน้อย (สีเขียว) ดูแลรักษารพ.สนาม Hospitel  ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน และ ค่าอุปกรณ์ในการดูแลติดตามสัญญาณชีพ 500 บาทต่อวัน ค่าชุดป้องกันส่วนบุคคล ( PPE ) ไม่เกิน 150 บาทต่อราย การกักตัวที่บ้านและชุมชน ค่าดูแลให้บริการผู้ป่วย สำหรับค่าติดตามประเมินอาการ ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อในอัตรา 600 บาทต่อวัน/รวมค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน

บทเรียนจากเดลตา และการที่โอมิครอนไม่ได้ทำให้เกิดอาการหนักมากนัก ทำให้รัฐบาลต้องพิจารณามาตรการที่สมดุลระหว่างการไม่ให้เศรษฐกิจชะงัก และการป้องกันโรคระบาด ซึ่งการปรับแผนเร่งด่วนเกิดขึ้นได้เสมอตามที่นายกฯ สั่งประชุมด่วนหลัง ครม.เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สิ่งที่ครั้งนี้ดูจะให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเตียงไม่พออีก คือ การส่งเสริมเรื่องการกักตัวที่บ้านหรือในชุมชน ที่จำเป็นต้องอาศัยวินัยของผู้กักตัวอย่างยิ่งยวดด้วย

การฉีดวัคซีนเข็มสามก็ต้องเร่ง เมื่อมีความเชื่อว่าการบูสเข็มสามด้วย mRNA มีประสิทธิภาพดีกว่ารัฐบาลก็กำลังจัดให้และต้องเพิ่มจุดฉีด ที่สำคัญเริ่มมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่อง โอมิครอนสามารถติดได้ในเด็ก เป็นข่าวออกมาจากต่างประเทศ ฝ่ายสาธารณสุขไทยต้องทันต่อเรื่องนี้และวางแผนรับมือให้ทันการณ์ เรื่องยารักษาก็ต้องมองตัวที่พัฒนาประสิทธิภาพดีๆ

โควิดเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศอัตราการควบคุมการระบาดด้อยกว่าไทยมาก ขณะที่ไทยเอง กราฟผู้ติดเชื้ออาจชันขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือแค่หลักสิบ ซึ่งก็ต้องให้กำลังใจบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และที่สำคัญเพื่อให้โรคนี้มันหายไป ระหว่างที่วิทยาการยังไม่สามารถจัดการได้เด็ดขาด เราต้องป้องกันตัวเองเคร่งครัด.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”