ที่ว่า “ประปา” ปทุมฯ กลิ่นไม่ดี! ไม่ใช่มีปัญหาคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่ จ.ปทุมธานี-รังสิต แต่เป็นเรื่องของการต่ออายุสัมปทานผลิตและจำหน่ายน้ำประปาไปอีก 20 ปี เนื่องจากสัมปทานปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 66 จึงเริ่มมีกลิ่นทะแม่ง ๆ อยู่

เมื่อเดือน ต.ค. 64 นายธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) เข้ายื่นหนังสือกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

กรณีมีการเตรียมแผนให้มีการต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชน หรือให้สิทธิเป็นผู้ดำเนินการผลิตน้ำประปาและจำหน่ายประปาในเขตปทุมธานี-รังสิต ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเพียงรายเดียว และหลีกเลี่ยงการประกวดราคา อาจส่งผลให้รัฐได้รับความเสียหายในส่วนต่างของผลกำไรประมาณ 1.44 หมื่นล้านบาท

เตือนอย่าเล่นน้ำในคลองประปาน้ำเชี่ยวอันตราย-ผิดกฎหมาย | เดลินิวส์

หลังจาก กปภ. ได้ทำสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาแก่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยให้ร่วมลงทุนในรูปแบบสัญญาที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างระบบผลิตและจำหน่ายน้ำประปา

โดยเอกชนเป็นผู้ใช้ทรัพย์สินในระบบผลิต ดูแลบำรุงรักษา และขายน้ำประปาให้กับ กปภ. ตลอดอายุสัญญา 25 ปี และจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 14 ต.ค. 66 ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดสัญญาเอกชนร่วมลงทุนจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้ กปภ. หรือในวันสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กปภ.

แต่ช่วงปลายปี 64 มีข่าวไม่ค่อยเป็นมงคล เกี่ยวกับ “กลุ่มขบวนการ” มีการ “ร่างสัญญา” เพื่อให้มีการต่อสัญญาให้แก่เอกชนดังกล่าวออกไปอีก 20 ปี จนถึง 14 ต.ค. 86 และเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำจากบริษัทฯ สูงถึง 530,000 ลบ.ม./วัน และให้สามารถซื้อมากกว่านี้ได้ หากไม่เพียงพอต่อผู้ใช้น้ำ

ทาง สร.กปภ. เห็นความไม่ชอบมาพากล จึงแจ้งผู้ว่าการ กปภ. เพื่อขอทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาแก้ไข พร้อมทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง “ป.ป.ช.-สตง.” ให้จับตาดู!

“พยัคฆ์น้อย” ฝากไปยังผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กปภ. นายธนาคม จงจิระ ประธานกรรมการ กปภ. และ นายสมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กปภ. ว่าถ้าลงทุนเกิน 5 พันล้านบาท ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือไม่?

“เพื่อให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการลงทุนของรัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการมีส่วนได้เสียในการดําเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัตินี้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ” นี่คือสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ถ้า กปภ. ต้องการดึงเอกชนเข้ามาดำเนินการ จะต้องเปิดประมูลทั่วไป เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ใช่หรือไม่? แล้วต้องดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำนักหนาเรื่อง “ข้อตกลงคุณธรรม”

ดังนั้นชัด ๆ เลยก็คือ ถ้าสิ้นสุดสัญญา 14 ต.ค. 66 เอกชนดังกล่าวต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้ กปภ. แล้วถ้า กปภ.ต้องการให้เอกชนเข้ามาผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต ต้องเปิดประมูลแข่งขันกันเป็นการทั่วไป

นึกจะ “ประเคน” อะไรให้ใครกันง่าย ๆ ไม่ได้ใช่ไหมจ๊ะ? พล.อ.อนุพงษ์และนายทรงศักดิ์!!.

———————
พยัคฆ์น้อย