กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกรอบ!! หลังขุนคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ยืนยันให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตรา 100% ตามเดิม

แม้ภาคเอกชนได้หยิบยกประเด็นได้รับผลกระทบการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ขึ้นมาขอความเห็นใจให้รัฐบาลลดภาษีที่ดินให้ 90% เช่นเดียวกับปี 63 และ 64 ก็ตาม

แต่ด้วยสภาพ!!ของงบประมาณ ในเวลานี้ รัฐบาลเองก็แทบเอาตัวไม่รอด…ด้วยเพราะรายได้ที่เข้ามามีเพียงน้อยนิด ยังต้องอาศัยเงินกู้ เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจ

ฉะนั้น!! ในเวลาเช่นนี้ ใครพอมีสตางค์ก็ต้องช่วยเหลือรัฐบาล เพราะอัตราการจัดเก็บภาษีภาครัฐก็ยืนยันว่าเป็นธรรมอยู่แล้ว

ที่สำคัญยังเป็น “อัตราเดิม” ที่เก็บอยู่ในปี 63-64 ยังไม่ได้ปรับ “อัตรา” เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่อย่างใด

โดยใครที่มีที่ดินแล้วใช้เพื่อเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.01–0.1% แต่ถ้าเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัย ก็จัดเก็บในอัตราที่ 0.02–0.1%

ทั้งนี้แยกเป็น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะอยู่ที่ 0.03–0.1% สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน 0.02–0.1%

แต่ถ้าเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ที่ 0.02–0.1%

ขณะที่การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการประกอบเกษตรกรรม และอยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ที่ 0.3–0.7% ส่วนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ที่ 0.3–0.7%

“ขุนคลัง” ให้ตุผลไว้ว่า จากการลดภาษีที่ดินไป 2 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้รายได้รัฐหายไปปีละมากกว่า 3 หมื่นล้านบาททีเดียว โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น หรือทำให้ท้องถิ่นขายรายได้ไปประมาณ 7,850 ล้านบาท

ตามหลักเมื่อลดภาษีไป 2 ปี รัฐบาลก็ต้องหาเงินไปอุดหนุนชดเชยให้ท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้าไปอุดหนุนรายได้ให้แค่ปีเดียว ช่วงปี 62-63 เท่านั้น ส่วนปีภาษี 63-64 ไม่ได้ช่วยอุดหนุน เพราะงบประมาณมีจำกัด 

อย่างไรก็ตามหากถามว่าในแง่ของภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาเพื่อขาย แถมยังได้รับอานิสงส์จากการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ที่มีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ไปจนถึงสิ้นปี 65

คาดกันว่าจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ราว 2.91 แสนล้านบาท มีการเพิ่มการบริโภคในประเทศประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น 1.35 แสนล้านบาท ที่สำคัญ!ยังทำให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 0.58%

ขณะที่การคง “อัตราภาษี” ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เท่ากับปี 63-64 ออกไปอีก 2  ปี อย่างน้อยก็ยังมีเงินเข้ามาเติมงบประมาณอย่างน้อยอีก 6 หมื่นล้านบาท และไม่กระเทือนรายได้ของท้องถิ่น

แต่ในแง่ของเจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของกิจการอย่างโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจพัฒนาที่ดิน ขายที่ดิน และที่เกี่ยวเนื่องอีกสารพัด โดยเฉพาะรายเล็ก รายน้อย ที่มีสายป่านไม่ยาวนัก อาจต้องเหนื่อย ต้องหนัก เพราะได้รับผลกระทบจากพิษโควิดอย่างหนักหนาสาหัส

บรรดาผู้ประกอบการเหล่านี้!! ภาครัฐอาจต้องต้องเหลียวหลัง กลับมามองอีกครั้งว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร? นอกเหนือจากการช่วยเหลือตัวเองด้วยการแปลงที่ดินเป็นสวนผลไม้

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”