ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ตื่นตัวมากคือ เรื่องหมอกควันพิษ การสูดดมเข้าไปเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ในภาคเหนือ มีปัญหาเรื่องการเผาเศษซากทางการเกษตร และการเผาเพื่อเก็บของป่า ในส่วนของกรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM2.5 ซึ่งในปี พ.ศ.2564 กรุงเทพฯ ติดอันดับ 11 เมืองที่มีอากาศเลวร้ายของโลก จากรายงาน คุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก ของเว็บไซต์ IQAir

เรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่มีอันตรายต่อทางเดินหายใจเป็นอย่างไร ? องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่านี้ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนเกณฑ์ค่าเฉลี่ยรายปีนั้น WHO กำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนประเทศไทย จากข้อมูลของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กำหนดเกณฑ์การเปรียบเทียบไว้ว่า ค่า AQI (Air Quality index) มากกว่า 200 หรือเทียบได้กับค่า PM2.5 ตั้งแต่ 91 ขึ้นไป จึงถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ประเทศไทยยังมีการกำหนดค่าไม่สอดคล้องกับคำแนะนำของ WHO โดยกำหนดค่าไว้สูงกว่าไทย กำหนดเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเกณฑ์ค่าเฉลี่ยรายปี กำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่าฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งมีแหล่งกำเนิดหลักมาจาก ภาคการขนส่งทางถนนระบายฝุ่น PM2.5 มากที่สุด ร้อยละ 72.5 รองลงมาได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 17 การเผาในที่โล่ง ร้อยละ 5 และอื่นๆ ร้อยละ 5.5 

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ได้จัดทำรายงานประจำปี พ.ศ.2563 ซึ่งพบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตในวันที่ค่าฝุ่นน้อย หรือจัดว่าอากาศดี เพียง 71 วัน และหากคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่น PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่าในปี 2020 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,270.07 มวน

ในปี 2564 Rocket Media Lab อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่า

  • กรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 12 วัน คิดเป็น 3.29% 
  • ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน คิดเป็น 16.71% 
  • ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 202 วัน คิดเป็น 55.34% 
  • ระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 90 วัน คิดเป็น 24.66%

วันที่กรุงเทพฯ อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2564 คือค่ามาตรฐานฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปี คือ วันที่ 23 ม.ค.2564 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2563 สูงสุด 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และตลอดทั้งเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง มีจำนวน 11 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีจำนวน 13 วัน และ มีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง มีจำนวน 7 วัน 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563-2564 เดือนที่มี ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุด ของปีคือ ก.พ. มีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง ซึ่งหมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีจำนวน 3 วัน อีกเดือนที่มีค่าฝุ่นสูงคือ เดือน ธ.ค. ในปี 2564 เดือน ม.ค., ก.พ., ธ.ค.นี้ มีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเรียกว่าอยู่ในแถบสีแดง คิดเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย อาจเป็นไปได้ที่วันหนึ่ง ในบางเขตมีค่าฝุ่นสูง บางเขตมีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย

สำหรับเดือนที่มีจำนวนวันที่อากาศดีที่สุดในปี 2564  ของกรุงเทพฯ ก็คือ เดือน ก.ค.  มีค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในแถบสีเขียว อันหมายถึงคุณภาพดี มากถึง 22 วัน และวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สีเหลือง อีกจำนวน 9 วัน รองลงมาคือ เดือน ก.ย. และเดือน มิ.ย.

Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่น PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน

หากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2564 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Dr. Richard Muller จะพบว่า

  • เดือน ก.พ. คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการ สูบบุหรี่จำนวน 163.68 มวน เฉลี่ยวันละ 5.84 มวน (ลดลงจากปี 2563 ที่จำนวน 166.90 มวน)
  • เดือน ม.ค. คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการ สูบบุหรี่จำนวน 170.95 มวน เฉลี่ยวันละ 5.51 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่จำนวน 164.60 มวน)
  • เดือน ธ.ค. 148.86 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563  ที่จำนวน 146.71 มวน) 

เมื่อรวมกับเดือนที่อากาศดีแล้ว เท่ากับในปี 2564 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,261.05 มวน ลดลง 9 มวน จากปี 2563 ที่จำนวน 1,270.07 มวน ปี 2564 อากาศดีกว่าปี 2563 เล็กน้อย

ในส่วนของการแก้ไขปัญหา ครม.มีมติ ในวันที่ 12  ก.พ. 2562  ให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ โดยมี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ  สำหรับการแก้ปัญหาใน กทม. รับผิดชอบโดย สำนักสิ่งแวดล้อม แผนปฏิบัติการประจำปี 2564 คือ ตรวจจับรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ การตรวจวัดรถสองแถว (ในซอย) ควันดำร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตรวจวัดมลพิษจากรถราชการในสังกัด กทม.  รณรงค์ขอความร่วมมือเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคาร ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมฝุ่นละอองและเสียง 

ขสมก." คุมเข้มรถเมล์ 2,885 คัน ต้องปลอดควันดำ ช่วยเมืองกรุงลดฝุ่นพิษ |  เดลินิวส์

โครงการและกิจกรรม อาทิ  ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร (งบประมาณ 190,000 บาท) จ้างเหมาเดิน ระบบพร้อมบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตั้งบนเสาเหล็กและแบบเคลื่อนที่ (งบประมาณ 38,256,500 บาท) ส่วนโครงการที่ประสานหน่วยงานอื่น ไม่ใช้งบประมาณ อาทิ ตรวจวัดรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง พัฒนาระบบสารสนเทศด้านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการปิ้งย่างลดมลพิษ โครงการหน่วยเคลื่อนที่เร็วบรรเทาฝุ่นละออง โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร โครงการแชะ & แชร์ ร่วมแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

rocket media lab ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของ กทม. งบประมาณเกือบทั้งหมดในส่วนของการดูแลคุณภาพอากาศใช้ไปกับการเดินระบบพร้อมบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ คือการประสานความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตำรวจ ขสมก. และองค์กรภาคธุรกิจและประชาชนต่างๆ รวมไปถึงโครงการปลูกต้นไม้ต่างๆ โครงการฉีดล้างผิวจราจร ฉีดล้างลดฝุ่นบนไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น

จากการได้พูดคุยกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ ซึ่งมีแนวคิดเรื่องไม่ใช่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นแค่ เมืองน่าเที่ยว แต่ต้องเป็น เมืองน่าอยู่ด้วย จึงต้องแก้ปัญหามลพิษฝุ่น นายชัชชาติเล่าว่า ตนเองออกกำลังกายทุกเช้า และพบว่าบางวันอากาศมันแย่ ซึ่งเขาว่า ปัญหาตามฤดูกาลที่ทำให้มีฝุ่นคือช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค. กทม.มีปัญหาภูมิประเทศเป็นฝาชีคว่ำความดันต่ำ ส่งผลกระทบต่อการระบายฝุ่น ปัญหามาจากสามอย่างที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่อง การจราจร โรงงาน และการเผาชีวมวล

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องของ รถควันดำ ซึ่งนายชัชชาติระบุว่า เราจำเป็นต้องใช้ CCTV ติดตามจุดต่างๆ เพื่อตรวจสอบรถควันดำ ให้หน่วยงานด้านการขนส่งเรียกไปรับโทษ ส่วนตัวเขา ไม่สนับสนุนการตั้งด่าน เพราะจะทำให้รถติด อีกส่วนหนึ่งที่มีปัญหาคือรถบรรทุกควันดำ ต้องอาศัยการปรับกฎหมายด้านการควบคุมอาคารมาช่วยด้วยที่รถบรรทุกควันดำจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้ ต้องคิดการป้องกันเชิงสร้างสรรค์ และ คนที่ทำให้เกิดมลพิษต้องมีส่วนรับผิดชอบ สำหรับประชาชนเองก็มีกลุ่มเปราะบางที่ต้องเข้าไปช่วย เช่น แจกหน้ากาก

และนโยบายที่นายชัชชาติสนใจคือ เมื่อเราสามารถวัดค่าฝุ่นได้ ก็ ต้องหามาตรการจูงใจให้การใช้รถน้อยลงในวันที่ค่าฝุ่นมาก เช่น การลดค่าโดยสารรถสาธารณะ การส่งเสริมการทำงานที่บ้านในวันที่ค่าฝุ่นเยอะ เหมือนกรณีการส่งเสริมทำงานที่บ้านช่วงโควิด สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การปลูกต้นไม้ ในพื้นที่ที่ต้นไม้มาก ฝุ่นจะลดลง แต่ การตัดแต่งต้นไม้ จะต้องมีตำแหน่ง “รุกขกร” ประจำเขต เพื่อแนะนำการตัด การปลูกต้นไม้ด้วย

ก็เป็นแนวคิดของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนหนึ่ง ที่คนกรุงก็หวังจะแก้ปัญหาได้เพื่อผลดีต่อสุขภาพ.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”