การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 9 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2564 พบการเผยแพร่ข่าวปลอมของคนไทยว่า มีผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน

ข้อมูลนี้ คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส พูดในการเปิดงาน “การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม”

คุณชัยวุฒิ บอกว่า กลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี จากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอมช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีข้อความที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 145,515,605 ข้อความ ข้อความที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบ 13,165 ข้อความ และพบข้อความที่ต้องตรวจสอบ 5,010 เรื่อง

นั่นเป็นมุมของรัฐ ส่วนใครจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย วิพากษ์วิจารณ์อะไรอย่างไร ก็สุดแท้แต่

Reporter Journey ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายที่เขียนเป็นบทความ ชาวสิงคโปร์ ชาติที่มีอารยะบนโลกออนไลน์ระดับสูงของโลก แชร์ทางโซเชียลน่าสนใจทีเดียว

โดยบอกว่า ดัชนีชี้วัดความมีอารยะชนหรือความสุภาพทางอินเทอร์เน็ต (Digital Civility Index) จัดทำโดย Microsoft  ได้รวบรวมข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 32 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงการแสดงความเห็นอย่างสุภาพ การรับผิดชอบต่อการแสดงความเห็นของตัวเอง การเขียนข้อความในเชิงคุกคามทางเพศ การบูลลี่ การประทุษร้ายด้วยข้อความ การใส่ร้ายกล่าวหา สร้างข่าวปลอม รวมทั้งตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่สะท้อนถึงคุณภาพของประชากรประเทศนั้น ๆ จัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2019

โดยปี 2020 พบว่าประเทศที่มีความสุภาพสูงสุดบนโลกออนไลน์คือเนเธอร์แลนด์ ได้คะแนน 51 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร 55 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกา 56 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์ 59 เปอร์เซ็นต์ และไต้หวัน 61 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ไทยอยู่ 3 อันดับสุดท้ายของเอเชีย และอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับสุดท้ายของโลกจากดัชนีนี้ ร่วมกับตุรกี แอฟริกาใต้ และลาตินอเมริกา

ประชากรในกลุ่มเจนแซด ที่เกิดระหว่างปี 2538-2552 ของไทย คือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตในปีที่แล้ว

สิงคโปร์ อันดับ 4 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียนและเอเชีย แม้จะหล่นจากอันดับ 1 ของโลกเมื่อปี 2019  ท่ามกลางการต่อสู้กับสภาวะความเครียดของผู้คนจากการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในช่วงโรคระบาด ที่อารมณ์ความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล สภาพสังคมที่บีบคั้นและกดดัน รวมทั้งการปล่อยข่าวปลอม ข่าวลวงของผู้ที่ไม่หวังดีที่อาจทำให้สติประชาชนแตกกระเจิงได้

สำนักข่าวสเตรทไทม์สของสิงคโปร์รายงานว่า คนสิงคโปร์มีประสบการณ์บนโลกออนไลน์ในเชิงลบค่อนข้างน้อย เช่น การถูกคุกคามทางเพศด้วยข้อความ ที่น่าสนใจคือ การคุกคามทางออนไลน์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว เช่น การติดต่อทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอม การรับคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง การหลอกลวง เนื้อหาอันเป็นเท็จ ไม่สุภาพ หยาบคาย และการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ถึงอย่างไรก็ยังคงมีปัญหาการปล่อยข่าวปลอม สร้างเฟคนิวส์ต่าง ๆ ออกมามากมายไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ แต่พอเริ่มรับมือกับสถานการณ์และมีข้อมูลมากเพียงพอ สิ่งที่คนสิงคโปร์มีมากกว่าคือ ฉลาดในการรับและกรองข้อมูล และไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวเหล่านี้โดยง่าย

ทุกวันนี้ชีวิตเราอยู่บนโลกโซเชียลตลอด ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ด้วย ก็ลองดูว่าโลกออนไลน์ที่อื่นเป็นอย่างไร.

ชายธง