เมื่อวันที่ 6 เม.ย.63 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความว่า

“มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี เพราะว่า ก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ เรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือเข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้

อันที่สอง ก็คือจากข้อที่หนึ่ง ก็คือ การมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุด โดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผนในการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป จะแก้ได้ในที่สุด ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน ก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายว่า เราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”

โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีรับสั่งทรงห่วงใยแพทย์พยาบาลว่า “…หมออาจจะเหนื่อยหน่อยช่วงนี้ ฝากเป็นกำลังใจให้หมอกับพยาบาลด้วยค่ะ…”

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.63 ต่อมา ศบค.ได้ประกาศปิดประเทศ (lockdown) ในห้วงเวลาเดือน เม.ย.-พ.ค.63 โดยมีมาตรการควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์ และพสกนิกรที่ได้รับผลกระทบ และตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ตามโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทานให้กับ 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร แก่โรงพยาบาล 123 แห่ง ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย  Face Shield  ชุด PPE  ชุดกันไวรัส PAPR   เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญานชีพ (ICU Monitor) เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล เครื่องกำจัดเชื้อโรคและฟอกอากาศบริสุทธิ์ เครื่องช่วยกดหน้าอกเพื่อฟื้นคืนชีพ กล้องส่องทางเดินหลอดลมแบบเคลื่อนที่ โคมไฟผ่าตัดใหญ่โคมคู่ เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ ห้องตรวจหาเชื้อ (Modlar Swab Unit) รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย  รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ

พระราชทานทรัพย์ และพระราชทานอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนี้

– จำนวนเงิน 100,000,000 บาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช

– จำนวนเงิน 2,407,144,487.59 บาท ให้แก่โรงพยาบาลวิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์

– จำนวนเงิน 345,000,000 บาท ให้แก่เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์

– สนับสนุนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ และทหารที่บาดเจ็บจากการต่อสู้ป้องกันประเทศ

– ก่อสร้างห้องตรวจหาเชื้อให้แก่โรงพยาบาล 20 แห่ง

– พระราชทานรถ ประกอบด้วย รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย 20 คัน รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน 8 คัน และ รถเอกซเรย์เคลื่อนที่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยสถานการณ์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน มีกลุ่มผู้เสี่ยงในหลายพื้นที่ หากตรวจค้นหาโรคล่าช้าจะยิ่งทำให้แพร่ระบาดกระจายเร็วขึ้น จึงมีพระราชดำริ ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างและพระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษเคลื่อนที่แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ออกตรวจวิเคราะห์ผลโรคติดชื้อไวรัสโควิด-19 นอกโรงพยาบาล

รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทานได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย สามารถวิเคราะห์ผลการตรวจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อมีผลต่อการออกมาตรการหรือควบคุมสถานการณ์ของรัฐได้อย่างเร่งด่วน

รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทานเป็น ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 16 ตารางเมตร ภายในมี 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิค PCR มีห้องบัฟเฟอร์ควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมกับเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ประกอบด้วย ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอวิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่าง ตู้แช่แข็ง -20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ที่มี มาตรฐานความปลอดภัย และความแม่นยำเทียบเท่ากับห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทั่วไป

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลอากาศโทสุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์ฯ ส่งมอบยาฟ้าทะลายโจรพระราชทาน จำนวน 2,000 ขวดแก่กรุงเทพมหานคร โดยมีพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ร่วมรับมอบยาฟ้าทะลายโจรพระราชทานเพื่อใช้บำบัดรักษาเป็นเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการไม่มากนัก

เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและดูแลประชาชนให้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี จึงทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของอาณาราษฎรในพระองค์ทุกหมู่เหล่า ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานอันตั้งมั่นที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค.64 ที่กำลังจะเวียนมาบรรจบครบรอบปีอีกครั้ง ขอเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th ระหว่างวันที่ 23–29 ก.ค.64

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”