พูดกันตรง ๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม! เมื่อปลายปี 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 (ม.44) สั่งปิด “เหมืองทองอัครา” อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เมื่อเป็นคนสั่งปิด! ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่าเสียหายไปเต็ม ๆ ให้ “คิงส์เกต” แห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในเหมืองทองดังกล่าว

เมื่อปี 63 “พยัคฆ์น้อย” เดินทางไปดูเหมืองทองอัครา หลังจากนั้นขับรถอีก 10-15 นาที ไปดูแหล่งขุดทองคำ “เขาพนมพา” อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่บ้าน แม่ค้า ตำรวจ และชาวบ้านที่ขายที่ดิน 48 ไร่ ให้กับเหมืองทองอัคราในราคา 27 ล้านบาท แต่ไม่ยอมย้ายออกไปไหน ยังขอเช่าที่ดินผืนนี้จากเหมืองฯ เพื่ออยู่อาศัยทำกินต่อไป

“เขาพนมพา” เป็นภูเขาดินลูกรังเตี้ย ๆ โดยทองคำที่พบจะเป็นทองคำที่อยู่บนผิวดิน แค่ใช้จอบ-เสียมขุดชอนไชลงไปก็จะเจอทองคำ สามารถเอาไปขายให้ร้านทองได้เลย แต่บริเวณเหมืองทองคำอัครามีสภาพทางธรณีวิทยาเป็นหินแข็งแกร่ง โดยมีแร่ทองคำ-แร่เงิน ผสมกันอยู่ในก้อนหิน ต้องถลุงและผ่านกรรมวิธีแยกแร่ทองคำ-แร่เงินออกมา

A gold mine operated by Akara Resources in Phichit province.

เหมืองทองคำอัคราครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้าน-ตำบล เหมืองฯ จึงจำเป็นต้องซื้อที่ดินชาวบ้านโดยรอบไว้เป็นแนวตะเข็บกันชน ซึ่งจะว่าไปพื้นที่แถวนั้นเพาะปลูกลำบาก! ไถ-ขุดลงไปเจอแต่หินก้อนใหญ่ ๆ ปกติไร่ละ 30,000-50,000 บาท ขายยากเพราะไม่มีใครซื้อ แต่เมื่อเหมืองฯ เข้ามาจึงขายได้ไร่ละ 400,000-500,000 บาท บางพื้นที่อยู่ห่างออกมา ไม่ได้เป็นแนวตะเข็บกันชน แต่อยากขายไร่ละ 500,000 บาท เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็ไปผสมโรงประท้วงกับเขา

หลายคนพาญาติพี่น้องจากต่างถิ่น มาสร้าง “บ้านผี” หลังละ 20,000-30,000 บาท เพื่อรอรับค่ารื้อถอนจากเหมืองฯ 200,000-300,000 บาท เมื่อได้เงินแล้วก็พาลูกออกจากโรงเรียนย้ายไปอยู่ที่อื่น เรื่องราวมันเป็นแบบนั้น ใครสมหวังก็ไม่มีปัญหา ใครไม่สมหวังก็มีปัญหากันยาว ประเภทที่ว่าอาบน้ำประปาบ่อเดียวกัน หลายคนไม่มีอาการคัน แต่บางคนบ่นว่าคัน!

ส่วนผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านยืนยันว่ามาตรวจกันหลายหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุขอำเภอ-จังหวัด สาธารณสุขเขต (นครสวรรค์) ตรวจร่างกาย-ดิน-น้ำ-พืชผัก เป็นประจำเพื่อหาสารตกค้างและโลหะหนัก ไปตรวจพืชผักที่วางขายในตลาดด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ประมงก็นำปลาในบ่อ ปลาตามแหล่งน้ำสาธารณะไปตรวจหาสารพิษ

ชาวบ้านทั่วไป ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐอีกมาก ยังใช้ชีวิตอยู่รอบเหมืองฯ ตามปกติ บางคนป่วยต้องฟอกไตด้วยซ้ำ แต่ยังมีชีวิตอยู่ และกินพืชผักที่ปลูกไว้รอบบ้านได้

“พยัคฆ์น้อย” ไม่เข้าใจ “รัฐราชการ” เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข-ฝ่ายปกครอง-กอ.รมน. ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ทำงานแบบไหน? จึงปล่อยให้ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของคนบางกลุ่มที่ชอบออกมาป่วน! กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง!

โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบจริงแค่ไหน? ถ้าไม่กล้าฟันธง! ต้องแจ้งรัฐบาลให้ส่ง “หน่วยงานกลาง”เข้ามาตรวจสอบตามหลักวิชาการ ไม่ใช่ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองฯ เขาก็ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท แล้วจะโยนให้รัฐบาลก่อน ๆ ร่วมรับผิดชอบได้อย่างไร? เนื่องจากอดีตนายกฯ ไม่ใช้ ม.44 ที่สำคัญเขาไม่ “หูเบา” เชื่อ 2 นางสีดา!

ดังนั้นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลข้อพิพาทระหว่างคิงส์เกต-รัฐบาลไทย เรื่องนี้ไม่ต้องยื้อเวลา! เพราะถึงอย่างไรต้อง “จ่าย” แน่ ๆ เมื่อจ่ายแล้วต้องฟ้องร้องเอาเงินคืนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จะยึดทรัพย์สิน ยึดบ้าน ยึดที่ดินขายทอดตลาดก็ว่ากันไป

เนื่องจาก “พระรามตู่” ใช้ ม.44 พร่ำเพรื่อ! เพราะเชื่อดราม่า “2 นางสีดา” ป่วนเหมือง! โดยนางแรกปั่นราคาที่ดินเพื่อให้เหมืองฯ ซื้อ! โดยเอาปัญหาสิ่งแวดล้อมมาชูโรง ถ้าซื้อแปลงนี้ นางก็ไปปั่นตรงโน้นต่อ 2 ไร่ จะเอา 7 ล้านบาทก็ยังมี ส่วนอีกนางบ้านอยู่จังหวัดอื่น แต่ชอบเข้าไปเพ่นพ่านห่วงใยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวพิจิตรซะเหลือเกิ๊นนนน!!.

——————
พยัคฆ์น้อย