นับตั้งแต่สูญหาย กระทั่งพบศพ ไปจนถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีสังคมโซเชียลช่วยติดตาม ควานหา สมมุติฐาน หลักฐาน คล้ายโลกคู่ขนานกันคึกคัก

หลากประเด็นสงสัยมีให้อ่านว่อนไปหมด จนเลือกอ่านไม่ทัน…

ข้อเท็จจริงที่มาจากหลายช่องทาง แต่กลับสวนทาง “ความน่าเชื่อถือ” ในแหล่งที่มา ปัญหาคือบางคนเชื่อสนิทใจ ไร้การตรึงตรอง หรือตรวจสอบย้อนกลับต้นตอข่าวสาร กลายเป็นสภาวะแพร่สะพัดของ “ข่าวปลอม” หรือ เฟคนิวส์ (Fake News) ซึ่งต้องยอมรับว่าสร้างความสับสนให้สังคมไม่น้อย ที่น่ากังวลคือคนจำนวนมากตกอยู่ในภวังค์ความไม่ชัดเจน และได้รับผลกระทบกระเทือนทางอารมณ์จากการรับข้อมูลข่าวสารไม่รอบด้าน

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองปรากฏการณ์ข่าวนักแสดงสาว ในฐานะผู้คร่ำหวอดวงการข่าวนานกว่า 30 ปี ทั้งในบทบาทนักข่าวจนถึงบทบาทอาจารย์และนักวิจัยเชิงปฏิบัติการต่อต้านเฟคนิวส์ว่า ปัจจุบันคนอ่านข่าวผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ได้รับชุดข้อมูลจากหลายด้าน หลายแหล่ง ทั้งข้อมูลมาจากเพจดัง บุคคลที่มีชื่อเสียง เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ สำนักข่าวต่างๆ ซึ่งขณะนั้นความไม่ชัดเจนกับข้อเท็จจริงก็ยังต้องรอการพิสูจน์ รวบรวมหลักฐาน แต่กระแสบนโลกออนไลน์กลับไหลเวียนไว

ดังนั้น หลายคนจึงเชื่อด้วยความปรารถนาดี หรืออยากแสดงออกถึงความทันต่อเหตุการณ์ เพื่อเป็นการบอกถึงสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งอาจรวมไปถึงข้อมูลประเภทการคาดเดาต่างๆ ความคิดเห็น การวิเคราะห์ แล้วปะติดปะต่อเรื่องราวนำมาร้อยเรียงผลิต หรือเผยแพร่สู่สาธารณะโดยปราศจากกระบวนการตรวจสอบที่มาของข่าว

“ความเสียหายจากการที่ไม่ได้ตระหนักถึงผลลัพธ์และประโยชน์สูงสุดที่สังคมจะได้รับจากการกระทำดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งการหลอมคนในสังคมให้ตกอยู่ในภวังค์ข่าวปลอม ภวังค์ของความรู้สึกที่ตนเองต้องการจะรับรู้เท่านั้น”

ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่ความไม่ชัดเจนเกิดขึ้น มักจะเป็นโอกาสของการเกิดเฟคนิวส์ เพราะเฟคนิวส์จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคนที่หวังผล จนกลายเป็นว่า ตนเองอาจไม่รู้ตัวว่าได้เป็นผู้สร้างข่าวปลอมเสียเอง อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำให้สามารถตรวจสอบตัวเอง เพื่อเตือนสติไม่ให้กลายเป็นคนที่ทำร้ายสังคมด้วยการรู้เท่าทันข่าว ด้วยการกำกับตัวเองให้มีสติในการรับรู้ข่าวสาร รู้เท่าทันอคติในใจของตนเอง ไม่คล้อยตามและตรวจสอบที่มาของข่าวที่ได้รับ

นอกจากนี้ ต้องไม่แชร์ต่อหากอ่านแล้วตงิดใจ โดยให้หมั่นสังเกตจากภาษาของเนื้อข่าวที่อ่าน และสุดท้ายเมื่อพบว่าเป็นข่าวปลอม ควรกดปุ่ม “รีพอร์ต” ข่าวนั้นทันที ป้องกันผลกระทบที่คนอื่นๆ อาจจะได้รับในภายหน้า และยังเป็นการสร้างทักษะให้ตนเองสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking) ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักกับตัวเองทุกครั้งว่าเราไม่ได้เป็นเพียง “ผู้รับสาร” เท่านั้น แต่ยังเป็น “ผู้สร้างสาร”

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราทุกคนจะกลายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะทำให้ “ระบบนิเวศสื่อ” มีสภาพแวดล้อมที่ดี และยังเป็นการช่วยยุติการสร้างความเกลียดชังภายในสังคมได้ด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]