เป็นอีกหนึ่ง “โปรเจคท์ในฝัน” ที่มีการ “ลุ้นให้เกิดขึ้น” ได้จริง กับเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการผลักดันให้เกิด “ซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย” เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีกับนวัตกรรมอีกแห่งของโลก อย่างไรก็ตาม กับ “โครงการในฝัน” นี้ กับการผลักดัน “เมืองนวัตกรรม” นั้น อันที่จริงเรื่องนี้ได้มีการหยิบยกนำมาพูดถึงมานานหลายปีแล้ว เพียงแต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นจากเดิมสักเท่าไหร่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ถูกมองว่า… 

นี่ก็อาจไม่แตกต่างจากอีกหลาย ๆ โครงการ??

เริ่มด้วย “โยนหินถามทาง” ก่อนที่จะเงียบหาย??

กลายเป็นแค่อีกหนึ่ง “โครงการขายฝันคนไทย??”

อย่างไรก็ตาม กับ “ปัจจัยสำคัญ” ที่จะ “ผลักดันให้ซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทยเกิดขึ้นได้จริง ๆ” โดยไม่เป็นเพียงแค่ “โครงการขายฝันที่ทำไม่ได้??” นั้น สำหรับมุมมองเรื่องนี้ มี “เสียงสะท้อน” จากทาง ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่ได้มีการ “ถอดสมการ” เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ เพื่อให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ ในไทย

ทั้งนี้ ทาง ดร.พันธุ์อาจ ฉายภาพเรื่องนี้ไว้ว่า… “ซิลิคอนวัลเลย์” หรือ “เมืองนวัตกรรม” เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึง ประเทศไทย ด้วย โดยหลายประเทศ รวมถึงไทยได้พยายามศึกษาจาก “โมเดลที่ประสบความสำเร็จ” เช่น  โมเดลของ สหรัฐอเมริกา ที่เป็น “ต้นแบบซิลิคอนวัลเลย์” ซึ่ง อิสราเอล ได้นำแนวทางไปปรับใช้ จนเกิด “ซิลิคอนวาดี (Silicon Wadi)” ขึ้นมา และเปลี่ยนจากประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ…

เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสตาร์ทอัพชั้นนำมากมาย

รวมถึงทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

ขณะที่อีกหนึ่งประเทศที่เป็นกรณีศึกษาคือ เกาหลีใต้ ประเทศที่ สามารถพัฒนาให้ประเทศก้าวขึ้นมาติดอันดับ 5 ของโลกในฐานะประเทศที่มีดัชนีนวัตกรรมที่ดีที่สุด ของปี 2021 หลังจากสามารถพัฒนาเมืองนวัตกรรมชื่อ “พันกโยเทคโนวัลเลย์ (Pangyo Techno Valley)” ขึ้นมาได้สำเร็จ  …นี่ก็เป็น “ตัวอย่างของความสำเร็จ” ในต่างประเทศ

ที่ “ใช้ซิลิคอนวัลเลย์” เพื่อ “เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ”

สำหรับ “ซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย” นั้น กับแนวคิดเรื่องนี้ทาง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ก็ได้ระบุไว้ว่า… ประเทศไทยเองก็ได้มีการวางเป้าหมายเกี่ยวกับการสร้าง “ซิลิคอนวัลเลย์เวอร์ชันไทยแลนด์” ไว้เช่นกัน หากแต่แนวคิดเรื่องนี้ จะเกิดขึ้นได้จริง??…หรือจะเป็นได้เพียงแค่ขายฝัน??… เหมือนเช่นอีกหลายโครงการที่เคยมีกระแสก่อนหน้า กรณีนี้ก็ ขึ้นอยู่กับ “3 มิติสำคัญ” ของการพัฒนา ที่ไทยจำเป็นต้อง “ถอดสมการ” โดยประกอบไปด้วยมิติ-สมการ ดังนี้…

เริ่มจากข้อแรก ด้วยการ “ส่งเสริมการพัฒนาย่านนวัตกรรม” เนื่องจากย่านนวัตกรรมถือเป็นสมการหน่วยแรกก่อนที่ไทยจะพาสชั้นไปสู่การมี “เมืองนวัตกรรม” และ “จักรวาลนฤมิตของนวัตกรรม” ซึ่งที่ผ่านมาไทยมักเกิดปัญหาไม่สามารถผลักดันให้เกิดเมืองนวัตกรรมได้ เนื่องจาก ไทยมักมองการพัฒนาพื้นที่ทางนวัตกรรมในระดับใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนตัวจึงอยากเสนอแนะให้ ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ด้วยการ ลดขนาดเป้าหมายโดยควรเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างเช่นการพัฒนาย่านนวัตกรรมขึ้นมาก่อน ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละพื้นที่เกิดความโดดเด่นได้อย่างชัดเจน…

เมื่อชัดเจน ก็จะดึงดูดใจ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ให้สนใจเข้าส่งเสริม สนับสนุน หรือร่วมลงทุนด้วย

ขณะที่สมการตัวต่อมา ได้แก่ “ส่งเสริมให้เกิดดีพเทคเพิ่มขึ้น” โดย ดร.พันธุ์อาจ ระบุไว้ว่า… เพราะดีพเทคเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญของนวัตกรรมไทย ซึ่งโอกาสที่จะสร้างให้เกิดซิลิคอนวัลเลย์ได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ การ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจนวัตกรรม โดยเมื่อดีพเทคสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เองโดยอัตโนมัติ เพราะผู้ประกอบการเองนั้นต่างก็ต้องการนวัตกรรมที่จะช่วยให้เกิดการต่อยอดสร้างมูลค่าในเชิงพาณิย์อยู่แล้วนั่นเอง …นี่เป็นสมการตัวที่สองที่ทางผู้สันทัดกรณีได้มีการถอดรหัสไว้

ส่วนสมการอีกตัวคือ “โจทย์จากรัฐที่ต้องชัดเจน” เพื่อเอื้อต่อการลงทุนในเมืองนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ Eastern Economic Corridor (EEC) เพื่อ ผลักดันให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่ได้ นอกจากนั้น นโยบายของภาครัฐก็ควรที่จะต้องเน้นไปที่การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย …เหล่านี้เป็น “มิติสำคัญ” ที่ทาง ดร.พันธุ์อาจ ชี้ไว้

“หากรัฐและเอกชนจับมือกันขับเคลื่อน โอกาสเกิด ซิลิคอน วัลเลย์เมืองไทย ก็ไม่ไกลเกินฝัน แต่สำคัญคือต้องเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเมืองนวัตกรรม รวมถึงไม่ควรนำรูปแบบของคนอื่นมาใช้ทั้งหมด แต่ควรนำมาปรับใช้เพื่อให้เป็นซิลิคอนวัลเลย์เวอร์ชั่นไทยมากที่สุด” …เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้โดยผู้สันทัดกรณี ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมเชียร์ให้…

“ซิลิคอนวัลเลย์เมืองนวัตกรรม” นี่ มิใช่เมืองทิพย์”

“เกิดขึ้นได้จริง” และ เป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย”

“ด้วยนวัตกรรม”…มิใช่มีเพียงวาทกรรมเดิม ๆ??.