หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยิน หรือมีความเชื่อที่ว่า “สายตาเอียง” ทำเขียนหนังสือไม่ตรง แต่อันที่จริงแล้ว เป็นเรื่องจริงหรือไม่? แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้ “Healthy Clean” พามาหาคำตอบกัน

โดย นพ.พิชิต นริพทะพันธุ์ TRSC International LASIK Center เผยว่าอันที่จริงเป็นความเข้าใจที่ผิด… การเขียนหนังสือไม่ตรงนั้น เป็นลักษณะนิสัยของแต่ละคนมากกว่า การเขียนหนังสือตัวเอียง มองคอเอียง ตีเส้นแล้วเอียง อันนี้จะเป็นจากลักษณะนิสัย ไม่เกี่ยวกับสายตาเอียง

แล้วสายตาเอียงคืออะไร?.. สายตาเอียง หรือ Astigmatism เป็นความผิดปกติทางสายตา ที่เกิดจากความโค้งของกระจกตาในแต่ละแกนนั้นโค้งไม่เท่ากัน สามารถเกิดได้กับคนที่มีสายตาสั้น หรือยาวโดยกำเนิด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีสายตาสั้น เพราะว่า..ความโค้งกระจกตาในบางคนไม่ได้เป็นทรงกลม ในบางคนจะเป็นทรงรักบี้หรือรูปสองแกนที่ไม่เท่ากัน

“คนที่มีสายตาเอียง จะมีปัญหาเรื่องความคมชัดของภาพ จะเห็นภาพมีเงาซ้อน คือ ทั้งมัวและซ้อนทับกัน ซึ่งเส้นขอบของภาพจะลักษณะเป็นเงาๆ ทำให้แยกเลขที่มีหน้าตาคล้ายกันค่อนข้างยาก อย่างเช่น ตัวเลข 3 6 8 9 ซึ่งทุกคนสามารถเกิดสายตาเอียงได้ เหมือนกับสายตาสั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของพันธุกรรม”

เมื่อเกิดสายตาเอียงขึ้นแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสายตาเอียงเพิ่มขึ้นได้ สายตาเอียงจะคงที่ ที่อายุประมาณ 18-20 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละคน
 
สำหรับ “สายตาเอียง” สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้
-Simple Myopic Astigmatism คือ เอียงในแนวแกนเดียว แกนหนึ่งเป็นตาปกติ อีกแกนในตาเดียวกัน ซึ่งแกนมักจะตั้งฉากกันเป็นสายตาสั้น 
-Compound Myopic Astigmatism คือ สายตาสั้นทั้งสองแนวแกนแต่ปริมาณสายตาสั้นไม่เท่ากัน
-Simple Hyperopia Astigmatism คือ สายตาเอียง ที่แกนหนึ่งเป็นตาปกติ อีกแนวแกนเป็นสายตายาวโดยกำเนิด
-Compound Hyperopic Astigmatism คือ สายตาเอียง โดยมีสายตายาวโดยกำเนิดด้วยทั้งสองแนวแกนแต่ปริมาณไม่เท่ากัน
-Mixed Astigmatism คือ สายตาเอียง ที่มีแกนหนึ่งมีสายตาสั้น อีกแกนมีสายตายาวโดยกำเนิด

แล้ว “สายตาเอียง” รักษาได้หรือไม่ ต้องบอกว่าสายตาเอียงส่วนใหญ่เป็น Compound Myopic Astigmatism ซึ่งสั้นทั้ง 2 แนวแกนในปริมาณที่ไม่เท่ากัน การรักษาก็คล้ายกับสายตาสั้น ก็คือ การแก้ด้วยเลนส์เว้า แต่ใช้ร่วมกันกับเลนส์ทรงกระบอก ซึ่งจะช่วยลด หรือแก้ไขสายตาเอียง เพราะเลนส์เว้าจะแก้ได้ทั้งหมด 360 องศา แล้วก็ใช้เลนส์ทรงกระบอก มาช่วยแก้ส่วนที่เหลือ ทำให้การมองเห็นภาพคมชัดมากขึ้น เพียงแต่การแก้ด้วยแว่น ในคนไข้ที่มีสายตาเอียงมากๆ อาจจะเกิดความเพี้ยนของภาพได้ ส่วนการแก้ด้วยวิธีอื่น อย่างเช่น การแก้ด้วยคอนแทคเลนส์ที่มีสายตาเอียงร่วมด้วย หรือการแก้ด้วยเลเซอร์ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ เป็นการแก้ที่แนวระนาบของกระจกตา ทำให้ความเพี้ยนของภาพน้อย วิธีที่ใส่คอนแทคเลนส์กับเลเซอร์เราจึงสามารถแก้สายตาได้อย่างเต็มที่…

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”