เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รมว.พลังงานของซาอุดีอาระเบีย ทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งไปถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณ 4,600 บาท) ในช่วงหนึ่งของการซื้อขายวันนั้น และจนถึงตอนนี้ยังคงแตะอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณ 3,300 บาท)

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมถือว่า ตลาดน้ำมันโลกยังคงมีเสถียรภาพ นั่นเป็นเพราะการทำงานขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) และความร่วมมือกับ “พันธมิตร” ในนามโอเปกพลัส ซึ่งหนึ่งในนั้นคือรัสเซีย หากไม่มีการรวมตัวเช่นนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกอาจแย่ยิ่งกว่าที่จะมีใครประเมินได้ นอกจากนี้ เจ้าชายอับดุลอาซิซทรงยืนยันว่า โอเปก “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด”

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่ได้เป็นสงครามตามรูปแบบดั้งเดิม แต่เป็น “สงครามลูกผสม” ที่รวมยุทธศาสตร์หลายรูปแบบเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในกรณีของยูเครนและรัสเซีย เรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นใหญ่เกี่ยวข้องกับมิติด้านน้ำมัน จากการที่รัสเซียคือหนึ่งในประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นหนึ่งใน “พันธมิตร” กับองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) ในนาม “โอเปกพลัส”

คลังน้ำมันของบริษัทยูคอส ในภูมิภาคไซบีเรียตะวันตกของรัสเซีย

ทั้งนี้ ท่าทีของหนึ่งในสมาชิกระดับแกนนำของโอเปก คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่มีต่อสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ในบริบทเกี่ยวกับพลังงาน ชัดเจนว่า รัฐบาลริยาดเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกเช่นกัน นัยว่าเพื่อคานอำนาจด้านราคา โดยรัฐบาลวอชิงตันต้องการให้ราคาน้ำมันลดลงต่ำมากกว่านี้ แต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทรงมีสถานะผู้ปกครองโดยพฤตินัยของราชอาณาจักรแห่งนี้ ทรงมีจุดยืนแน่ชัดแล้วว่า ร่วมมือกับรัสเซียเพื่อรัสเซีย เพื่อรักษาราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูง

ดูเหมือนว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั่วโลกรู้จักด้วยพระนามย่อ “เอ็มบีเอส” ทรงมีความรู้สึกว่า พระองค์ทรงไม่ได้ “มีความติดค้าง” ในทางใดกับรัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งกล่าวหาพระองค์อย่างเปิดเผย ว่าทรงอยู่เบื้องหลังการสังหารโหดนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวและนักวิจารณ์การเมืองฝ่ายตรงข้าม ภายในสถานกงสุลใหญ่ซาอุดีอาระเบีย ที่เมืองอิสตันบูลของตุรกี เมื่อเดือน ต.ค. 2561

นอกจากนี้ รัฐบาลริยาดแสดงออกค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ประสงค์ร่วมมือกับรัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตรตะวันตก หากมีกรณีเชื่อมโยงกับเรื่องพลังงาน เรื่องจากสหรัฐถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่อันดับต้นของโลก แม้โดยหลักการถือว่าสหรัฐยังคงผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าซาอุดีอาระเบียมากกว่า 3 เท่า แต่ในระยะหลังซาอุดีอาระเบียลดเพดานการผลิต “เพื่อรักษาระดับแรงกดดันให้กับตลาด”

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องของน้ำมันนำพาให้เอ็มบีเอสกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มีความใกล้ชิดกันมากชึ้นในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่จะสะท้อนออกมาเป็นท่าทีนิ่งเฉยของซาอุดีอาระเบีย ที่มีต่อวิกฤติการณ์ในยูเครน เช่นเดียวกับบรรดาสมาชิกโอเปกที่เหลือ ซึ่งล้วนแสดงจุดยืนแบบเดียวกับรัฐบาลริยาด

จนถึงขณะนี้ โอเปกยังคงยืนกรานว่า ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับตลาดพลังงานโลกในเวลานี้ “ไม่ใช่ความรับผิดชอบ” ของโอเปก ในการต้องเป็นผู้บรรเทาสถานการณ์ และนโยบายในอนาคตจะเป็นเช่นใด ต้องเป็นผลจากการร่วมตัดสินใจกับรัสเซียด้วย

โบรกเกอร์ที่ตลาดหลักทรัพย์ ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ

ทั้งนี้ นายซูฮาอิล อัล มาสรุย รมว.พลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กล่าวว่า ตะวันตกควร “เชื่อมั่น” กับการทำงานของโอเปก ไม่ใช่ “การชี้นิ้วสั่ง” เพราะเป้าหมายของโอเปก คือการขับเคลื่อนนโยบายด้านน้ำมันให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน อัล มาสรุย กล่าวว่า รัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของโอเปกพลัส และ “จะเป็นแบบนี้เรื่อยไป” ทุกฝ่ายต้องให้เกียรติรัสเซียในฐานะหนึ่งในสมาชิก และเตือนมาตรการคว่ำบาตรพลังงานของตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ด้วยการตั้งคำถามกลับไปว่า “ประเทศใดมีศักยภาพการผลิตพลังงานเทียบเท่ารัสเซียบ้าง” โดยเฉพาะภายในระยะเวลา 10 ปีนี้ ที่ส่วนตัวเขายัง “หาไม่เจอ”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS