ในขณะที่ไทยเดินหน้าเรื่องการประกาศให้ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” และเตรียม “ปลดล็อกคุมเข้มโควิด” เพื่อให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิต (เกือบ) ปกติกันอีกครั้ง??

คนไทยดำเนินชีวิตภายใต้วิกฤติโควิดมาราว 2 ปี…

ต่อไปจะเป็นการ “ใช้ชีวิตกับโรคโควิดประจำถิ่น??”

ทั้งนี้ ก็แน่นอนว่า…ถ้าคนไทยจะได้ “ใช้ชีวิต (เกือบ) ปกติ” กันแล้ว…หลังจากต้องดำเนินชีวิตภายใต้มาตรการ “เข้ม ๆ-คลาย ๆ” กันมาอย่างยาวนาน นี่ก็น่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จากการที่ในไทยสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กันได้เพิ่มขึ้น แต่…อย่างไรก็ตาม กับ “การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคโควิด” จากการที่มีการ “ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” นั้น เรื่องนี้กรณีนี้…ถึงวันนี้ในไทยก็ยังมีกระแสเกี่ยวกับ “คำถามคาใจ??” คนไทย…

เอาเข้าจริง “การปฏิบัติตัวควรจะต้องยังไงกัน??”

กับกรณีนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

เกี่ยวกับเรื่องนี้กรณีนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้เฟซบุ๊ก Prof.Virasakdi Chongsuvivatwong ของ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการสะท้อนข้อมูลไว้น่าสนใจ โดยมี “คำแนะนำ” สำหรับ “วิธีปฏิบัติตัว” กับการที่ “คนไทยต้องอยู่ร่วมกับโควิด” โดยบางส่วนนั้นมีการอ้างอิงเวทีเสวนาเรื่อง “สานพลังความร่วมมือสู้ภัยโควิด-19 เตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นโรคประจำถิ่น” ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา…

ทาง ศ.นพ.วีระศักดิ์ สะท้อนไว้ในเวทีดังกล่าวนี้ว่า… “โรคประจำถิ่น” สำหรับความตั้งใจของผู้เริ่มคิดใช้คำนี้ “สำหรับโควิด” ก็คือ… “ไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรง” หรือ “เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพื้นที่นั้น” อย่างไรก็ตาม แต่โควิดก็ยังคงแพร่กระจายทั่วโลก “ยังเป็นโรคระบาดระดับโลก” อยู่ หรือที่เรียกว่า “pandemic” และน่าจะยัง “มีอัตราการตายสูงสลับต่ำ” แบบนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงส่งผลให้ “โควิดจะยังคงเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศ!!”

พร้อมกันนี้ ทาง ศ.นพ.วีระศักดิ์ ก็ยังได้มีการฉายภาพ “สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต??” เอาไว้น่าสนใจ เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่ “โควิดจะถูกกำหนดเป็นโรคประจำถิ่น” ในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้…

เริ่มจากการที่ สังคมมีการตั้งคำถาม ในประเด็นที่ว่า… “เมื่อไหร่การสูญเสียถึงจะลดน้อยลง??” ซึ่งนี่ย่อมจะเป็น คำถามที่ทุกคนล้วนอยากที่จะพบคำตอบ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศใช้ระยะเวลาแตกต่างกันไป เช่น สหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ตัวเลขผู้เสียชีวิตจึงจะลดลง ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียใช้เวลาแค่ 1 เดือนเศษ …และสำหรับในส่วน ประเทศไทย นั้น ได้มีการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมาเกือบ 3 เดือนแล้ว แต่จนถึงวันนี้ ในขณะนี้…

ยังไม่มีทีท่าว่าตัวเลขความสูญเสียจะลดลง??…

ส่วนสถานการณ์ต่อมาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือ… “การล็อกดาวน์จะไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ แล้ว!!” เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่มองเห็นว่า…การแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนถึงแม้จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมักมีอาการที่ไม่รุนแรง โดยสังเกตได้จากคนจำนวนมากที่ป่วย…และในที่สุดก็หายดี ดังนั้น การจะนำมาตรการล็อกดาวน์แบบคุมเข้มแบบเดิมมาใช้จึงไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ จะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายเหมือนกับโควิดระลอกอื่น ๆ ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ประชาชนยังพอจะทำมาหากินได้ ถึงแม้จะยังยากลำบากสักหน่อย แต่ก็น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม …นี่เป็นมุมวิเคราะห์จากทาง ศ.นพ.วีระศักดิ์

ขณะที่ “แนวทางรับมือ” กรณีที่จะมีการ “ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” กรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาท่านเดิมได้โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กดังกล่าวข้างต้นว่า… น่าจะประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่… “ใช้ข้อมูลบวกสัญชาตญาณตนเอง” เนื่องจากการระบาดทำให้ ระบบเฝ้าระวังและสอบสวนโรคอ่อนล้าหมดแรง จนประชาชนต้องตรวจโควิดกันเอง และรักษากันเอง ที่สำคัญ…ระบบกักตัวอย่างเข้มงวดก็ดำเนินการไม่ได้ ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยตนเอง โดยใช้วิธี “ประเมินสถานการณ์รอบบ้าน” หรือ “จากคนรู้จัก” ก็อาจทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญเพิ่มขึ้น

แนวทางถัดมา… ป้องกันตัวเองกันต่อไป” เพราะยังมีปัญหาความพร้อมของระบบรักษาพยาบาล เนื่องจากไม่ว่าจะป่วยหนักจากโรคอะไรในช่วงที่ ระบบการรักษากำลังอ่อนแอ ก็จะทำให้มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งกำลังพลในโรงพยาบาลเวลานี้ก็ทยอยติดเชื้อเหมือน ๆ กับประชาชนทั่วไป ดังนั้น คนที่ยังพอป้องกันตัวเองได้ก็จึงควรป้องกันตัวเองต่อไป

และอีกแนวทางคือ… “วางแผนรับมือในครัวเรือน” โดยหมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อให้มีข้อมูลนำมาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงของตนเองและคนใกล้ชิดได้มาก พร้อม ๆ กับใช้วางแผนรับมือในครัวเรือน ทั้งกำลังคนและงบประมาณสำรอง โดยเฉพาะกรณีที่ต้องถูกกักตัวอยู่คนเดียว …เหล่านี้เป็นคำแนะนำไว้โดย ศ.นพ.วีระศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยา

ก็นำมาสะท้อนต่อไว้ ณ ที่นี้…ให้ได้พินิจพิจารณากันทั่ว ๆ

“อยู่กับโควิดประจำถิ่น” หลายคนว่า “พูดน่ะง่าย!!”

มีปุจฉา “การปฏิบัติให้รอดโควิดยังไม่รู้จะยังไง??”

คำแนะนำผู้เชี่ยวชาญก็คง “คลายปุจฉา” ได้บ้าง.