สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 26 มีผู้สมัครทั้งสิ้น 12 คน มีจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลาย ตั้งแต่นิยมคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงแนวคิดขวาจัด ถึงขั้นต้องการแบนคำที่ไม่ได้มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส และต้องการขับไล่ชาวต่างชาติออกนอกประเทศ

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพและความมั่นคงภายในประเทศ ถือเป็นปัจจัยหลักลำดับต้น ที่ชาวฝรั่งเศสใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อลงคะแนนให้กับผู้สมัคร อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของประเด็นเหล่านี้เจือจางลง เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบอย่างหนักในทุกมิติทางเศรษฐกิจ นานาประเทศเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

แม้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ถือเป็น “ต้นแบบของการเมืองซ้าย-ขวา” อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครหลายคน “ตั้งใจเอียงไปทางขวา” มากขึ้น เพื่อสร้างกระแสชาตินิยม ไม่เว้นประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งแสดงจุดยืนสายกลางมาตลอด และเพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลยก็ว่าได้ ว่าจะร่วมชิงชัยเพื่อรักษาตำแหน่งให้ได้สองสมัยติดต่อกัน

อนึ่ง มีความเป็นไปได้สูง ว่ามาครงจะทำได้ และสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้นำฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 2 ทศวรรษ ซึ่งดำรงตำแหน่งสองสมัยติดต่อกัน ต่อจากประธานาธิบดีฌัก ชีรัก ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง ระหว่างปี 2538-2550

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง

ทั้งนี้ แทบทุกฝ่ายยังคงเชื่อมั่นว่า มาครง วัย 44 ปี จะยังคงรักษาเก้าอี้ผู้นำฝรั่งเศสไว้ได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน และ “บททดสอบที่แท้จริง” ของผู้นำฝรั่งเศส คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งจะมีการลงคะแนน ในเดือนมิ.ย.นี้ และพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันของมาครง ทำผลงานได้ไม่ดีนัก ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว

หนึ่งในปัญหาของการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ คือ “ความกระตือรื้อร้น” ของประชาชน ในการออกมาใช้สิทธิ์ การเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อกลางปีที่แล้ว สถิติผู้ออกมาใช้สิทธิ์ “ต่ำจนน่าใจหาย” และยิ่งไปกว่านั้น เกือบสองในสามของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ กาช่องไม่ลงคะแนนหรือไม่ประสงค์ออกเสียงในบัตรเลือกตั้ง

จริงอยู่ที่การเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส คือการลงคะแนนระดับชาติ และโดยหลักการควรมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นในระยะหลัง บ่งชี้ไปในทางเดียวกัน ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่ออกมาลงคะแนน ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องยืดเยื้อไปจนถึงรอบชิงดำ

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวฝรั่งเศส โดยสำนักวิจัยอีฟอป-ฟิดูเชียล คาดการณ์ว่า มาครงจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนราว 28% ตามด้วยนางมารีน เลอ แปน วัย 53 ปี จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ( เอฟเอ็น ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมขวาจัด ได้รับคะแนนเสียสนับสนุนตามมาเป็นอันดับสอง ที่ 21.5% หมายความว่า ทั้งคู่จะต้องไปขับเคี่ยวกันอีกครั้ง ในการเลือกตั้งรอบชิงดำ

นางมารีน เลอ แปน

อย่างไรก็ตาม ผลโพลสำหรับการเลือกตั้งรอบตัดสินน่าจะสร้างความกังวลใจ ให้กับมาครงมากกว่าเลอ แปน เมื่อมีการคาดการณ์ว่า มาครงจะเป็นฝ่ายชนะ ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 53.5% ต่อ 46.5% แต่เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งรอบตัดสิน เมื่อปี 2560 มาครงสามารถเอาชนะเลอ แปน ไปได้อย่างขาดลอย ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 66.1% ต่อ 33.9%

แล้วดังที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อแนวโน้มของผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ หรือหากออกมาใช้สิทธิ์แต่กาบัตรในช่องไม่ลงคะแนน มีความเป็นไปได้มากว่าจะเกิดขึ้น และการที่อาจมี “พลังเงียบ” ซึ่งไม่พอใจนโยบายของมาครงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปบำนาญ ทว่าอาจไม่แสดงออกชัดเจนในการตอบแบบสอบถาม ชัยชนะของเลอ แปน “จึงไม่ใช่ฉากทัศน์ที่เป็นไปไม่ได้”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES