ที่สำคัญ!! การจัดเก็บภาษีครั้งนี้จะดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2565 หรือพูดง่าย ๆ ก็ภายในเดือน ก.ย. 65 นี้ และที่น่าตกอกตกใจกันอีกยก คงหนีไม่พ้น… การจัดเก็บแบบไม่แยกแยะ

หากจำกันได้…ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังระบุว่านโยบายการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น เน้นไปที่นักลงทุนเฉพาะกลุ่ม ที่มีมูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป หรือล้านละ 1,000 บาท

ดังนั้น!! บรรดา “แมงเม่า” ตัวเล็ก ๆ หรือรายเล็กรายย่อย ไม่มีผลกระทบแน่นอน

แต่มาครั้งนี้ ขุนคลัง” อย่าง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” บอกว่า การจัดเก็บแบบแยกแยะกลุ่มนั้น เป็นการดำเนินการที่ยุ่งยากในขั้นตอนปฎิบัติ ดังนั้นจึงต้องจัดเก็บภาษีแบบเท่ากันหมด

นั่น!! หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายเล็ก รายย่อย หรือรายใหญ่ ก็ต้องถูกเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นในอัตรา 0.1% เท่ากันทั้งหมด

เหตุผลสำคัญ ของการจัดเก็บภาษีนี้ ก็เพราะ กระทรวงการคลัง เห็นแล้วว่า เป็นสถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะต่อให้ประเทศไทยต้องพบเจอกับ “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ทั้งผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบจากการทำสงครามของรัสเซียและยูเครน ก็ตาม

หากหันมาดูในตลาดหุ้นไทย กลับพบว่า แทบไม่ได้รับผลกระทบหรือไม่ก็น้อยมาก เพราะตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นมาก เห็นได้จากทั้งจำนวนนักลงทุน บัญชีการซื้อขายหุ้น หรือแม้แต่มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า เมื่อสิ้นปี 2564 มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น 946,557 ราย คิดเป็นสัดส่วน 31% จากสิ้นปี 2563 ไต่สู่ระดับ 3.1 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2.8 เท่าของการเพิ่มขึ้นในปี 2563 หรือมากกว่าจำนวนนักลงทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีก่อนหน้า หรือปี 2559-2563

ส่วนจำนวนบัญชีที่เปิดซื้อขายหุ้นทั้งหมดอยู่ที่ 5.2 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 49% หรือมีบัญชีหุ้นเปิดใหม่กว่า 1.7 ล้านบัญชีจากปี 2563

หากจะพูดให้ชัด ก็คือ ในปี 2564 มีจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากจำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 ที่ตลอดทั้งปีที่เพิ่มขึ้น 747,063 บัญชี

ทั้งนี้…ทั้งนั้น…เป็นเพราะ มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น กอรปกับการเชื่อมโยงระบบการซื้อขายกับระบบออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์ ก็สะดวกรวดเร็วทำได้ง่าย แถมยังมีการทำงานที่บ้าน ที่มีเวลาในการซื้อ-ขายหุ้นได้มากขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด!! บรรดาหุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2564 มีมากถึง 35 บริษัท มีมูลค่าการระดมทุนกว่า 93,400 ล้านบาท โดยมีราคาไอพีโอสูงกว่า 4.38 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2560

จากการที่ตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นมาก แถมยังแข็งแกร่งสามารถทานทนต่อสิ่งเร้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ขณะที่รัฐบาลเองจำเป็นต้องเก็บรายได้ให้เข้าเป้า

จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญ ที่กระทรวงการคลังต้องหันกลับมาเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นอีกครั้ง หลังยกเว้นให้ตั้งแต่ปี 2534 หรือยกเว้นให้กว่า 30 ปีที่ผ่านมา

อย่าลืมว่า!! ที่ผ่านมารัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลเศรษฐกิจ ในการดูแลประเทศ ด้วยเพราะสารพัดมรสุมที่พัดเข้ามาลูกแล้ว…ลูกเล่า…ทำให้ฐานะการคลังของประเทศไม่แข็งแกร่ง เหมือนที่เคยเป็น

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ที่รัฐจำเป็นต้องมีการขยายฐานภาษีให้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นครั้งนี้ก็ทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างน้อย 16,000-21,000 ล้านบาท

ต่อให้ในเวลานี้กระทรวงการคลัง มั่นใจว่าการเก็บรายได้จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 2.4 ล้านล้านบาทก็ตาม

อย่าลืมว่า…อนาคต!! ไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ได้ว่าจะมีพายุลูกไหนถาโถมเข้ามาอีก ซึ่งการทำให้ฐานะการคลังแข็งแกร่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือ หนทางที่ดีที่สุดในเวลานี้

ส่วน…เสียงเรียกร้องของบรรดานักลงทุนจะดังเพียงพอให้กระทรวงการคลัง “ล้มเลิก” หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”