สัปดาห์ที่แล้วอ่านเรื่องการจัดทำดัชนีชี้วัดความมีอารยชนหรือความสุภาพทางอินเทอร์เน็ต (Digital Civility Index) จัดทำโดยไมโครซอฟท์ รวบรวมข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 32 ประเทศทั่วโลก ไทยติดอันดับท้าย ๆ ของโลกในดัชนีนี้ เป็นอันดับที่ไม่น่าภาคภูมิใจเอาเสียเลย ทำให้นึกถึงข่าวเจ้าสัวซีพีเร่งฉีดซิโนฟาร์มให้พนักงาน ที่ได้เห็นหลายคนบนโลกออนไลน์ ตั้งคำถามทันทีว่า ทำไมเจ้าสัวจึงซื้อซิโนฟาร์มให้พนักงาน ทำไมไม่ซื้อซิโนแวค

ความไม่รู้ครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานความคิดที่เชื่อว่า เจ้าสัวข้องเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตซิโนแวค ทั้งที่เครือซีพีเคยออกแถลงการณ์ชัดเจนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ แต่คนในโลกออนไลน์กลับเชื่อสิ่งที่ส่งต่อ ๆ กันมา

นอกจากนี้ ถ้าติดตามข่าวสารจะทราบว่ารัฐบาลไม่อนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้เอง ผู้ผลิตวัคซีนต่างก็ทำธุรกรรมกับรัฐบาลแต่ละประเทศ ไม่มีใครทำสัญญาซื้อขายกับเอกชน การที่เจ้าสัวจะนำเข้าวัคซีนตามอำเภอใจนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องสั่งซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เช่นเดียวกับเอกชนอื่น ๆ โดยก่อนหน้านี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็มีให้จองเพียงซิโนฟาร์ม เท่านั้น

ขณะเดียวกันพนักงานในเครือซีพีก็เป็นผู้ประกันตน หลายคนเข้ารับวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซนเนกา ตามที่กระทรวงแรงงานจัดให้ จึงเป็นไปไม่ได้กับคำถามที่ว่าทำไมพนักงานซีพีไม่ฉีดซิโนแวค

เป็นเรื่องแรกที่ได้รับ หลังจากที่เขียน อารยะบนโลกออนไลน์ไป อีกเรื่อง หนึ่งข้อความจากคนใจร้าย ก่อเกิดพันข้อความจากคนใจดี

ร้านอาหารไทยชื่อ “Thai Thai Restaurant” อยู่ที่เมืองลับบ็อค รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา เจ้าของเป็นคนไทยที่มาตั้งรกรากที่นี่และเปิดร้านมากว่า 30 ปีแล้ว

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 มีลูกค้าคนหนึ่งมาทานมื้อกลางวัน ได้ยินเจ้าของร้านและพนักงานคุยกันด้วยภาษาไทยแล้วไม่พอใจ หลังทานเสร็จ ลูกค้าคนดังกล่าวเขียนข้อความบนกระดาษเช็ดปาก วางไว้บนเคาน์เตอร์ว่า “If you’re going to live in AMERICA learn to speak ENGLISH! or, go back to where you came from!” (ถ้าอยากอยู่ “อเมริกา” ก็ต้องฝึกพูดภาษา “อังกฤษ” ไม่งั้นก็กลับบ้านไป)

คุณรังสี เจ้าของร้าน ได้นำข้อความดังกล่าวโพสต์ขอโทษว่า “Someone left it at the counter at lunch today. Whoever you are, I apologize for that which I wasn’t born with.” (มีคนทิ้งข้อความนี้ไว้บนเคาน์เตอร์ตอนมื้อกลางวัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม เราขออภัยด้วยที่เราไม่ได้เกิดมาพูดภาษาอังกฤษ)

โพสต์นี้กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว มีคนคอมเมนต์ให้กำลังใจร้านกว่า 2,400 ข้อความ ที่น่าตื้นตันใจยิ่งคือ วันรุ่งขึ้นลูกค้าจำนวนมากพร้อมใจกันมาอุดหนุนจนที่จอดรถเต็ม ลูกค้าต่อคิวยาวเหยียด

หลังจากทานเสร็จ หลายคนยังเขียนข้อความลงบนกระดาษแล้วทิ้งไว้ที่เคาน์เตอร์ เพื่อให้กำลังใจเจ้าของร้านและพนักงาน เช่น ไม่พูดภาษาอังกฤษก็ไม่มีปัญหา เราทุกคนรักพวกคุณ เรารักคุณ ขอบคุณนะที่มาเปิดร้านที่นี่ คุณทำให้ชุมชนของเราน่าอยู่ ความหลากหลายทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังในโซเชียล หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์

จริงอยู่ที่โลกนี้มีคนใจร้าย แต่ก็มีคนใจดีมากกว่า.

ชายธง