เมื่อวันที่ 29  ก.ค. นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช  รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตนขอชื่นชม ระบบ “ส่งผู้ป่วยกลับบ้าน” ของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำเนินการผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ลงทะเบียนที่สายด่วน 1330 กด 15 หรือผ่านเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/  จากนั้น สปสช. จะส่งมายังกระทรวงสาธารณสุข ประสานต่อไปยังสาธารณสุขจังหวัด​ (สสจ.) ต่อด้วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เพื่อเตรียมการใช้รถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ซึ่งหลังการประสานแล้วไม่เกิน 3 วันจะเดินทางไปถึงภูมิลำเนา  ขณะที่ สพฉ. จะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการไปรับ-ส่งผู้ป่วย จากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือเครื่องบิน ช่วงที่ 2 คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น และช่วงที่ 3 คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดย​ สสจ.หรือโรงพยาบาลจะจัดรถมารับ ซึ่งในทุกขั้นตอนจะไม่มีค่าใช้จ่าย

นายสัณหพจน์  กล่าวว่า ตนเห็นว่าระบบดังกล่าว ถือว่าเป็นการวางระบบที่ดีในส่วนของการวางนโยบาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ของการขาดแคลนเตียงผู้ป่วย และแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล แต่กลับพบปัญหาในส่วนของขั้นตอนปลายทาง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งยังขาดแคลนบุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ ไม่เพียงพอดูแลผู้ป่วยโควิด เนื่องจากต้องแยกหน่วยงานออกมาดูแลเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานและการสื่อสารที่ขาดช่วงอยู่ เช่น เบอร์โทรติดต่อกับ สสจ. หรือผู้ที่รับผิดชอบ ในการรับผู้ป่วยในพื้นที่ปลายทางที่ไม่สามารถติดต่อได้ และการกระจายผู้ป่วยเมื่อมาถึงภูมิลำเนาไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่รักษา

“ผมได้รับการร้องเรียน และลงพื้นที่ติดตามขั้นตอนการส่งผู้ป่วยกลับบ้านในส่วนของพื้นที่ปลายทาง โดยเฉพาะพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ หัวไทร เชียรใหญ่ ปากพนัง จ.นครศรีฯ พบว่า มีโรงพยาบาลบางแห่งหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งทางคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้เปิดพื้นที่ไว้ถึง 7 แห่ง และหลายพื้นที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ แต่ผู้ป่วยกลับไม่ได้รับการส่งตัวเข้ารักษา โดยติดขัดที่ขั้นตอนการปฏิบัติงานการประสานจากส่วนกลางถึงส่วนปลายทาง

ขณะเดียวกันในส่วนของโรงพยาบาลท้องถิ่นเอง เนื่องจากมีบุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จึงไม่อาจแบ่งบุคลากรมาดูแลโดยเฉพาะได้ ซึ่งบางแห่งอาจมีจำนวนผู้ป่วยทั่วไปที่ตึงมืออยู่แล้ว” นายสัณหพจน์ กล่าว

นายสัณหพจน์ กล่าวว่า  ขณะนี้ ในส่วนของตน ได้รับการประสานจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้ป่วยหรือเป็นญาติของผู้ป่วยมาเป็นจำนวนมากที่ต้องการกลับมารักษาในภูมิลำเนา และประสานขั้นตอนการส่งตัวกลับ รวมทั้งการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ญาติพี่น้องของผู้ป่วยได้ติดต่อประสานมายังตน แล้วกว่า 20 ราย  ดังนั้นจึงมองเห็นปัญหาสำคัญ เรื่องของการติดต่อสื่อสารระหว่างส่วนกลางและปลายทาง ซึ่งหากได้รับการประสานงานที่รวดเร็ว และทันท่วงที จะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่จะส่งเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล (กลุ่มสีเหลือง-สีแดง) จึงขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงในส่วนดังกล่าวข้างต้นด้วย  

อย่างไรก็ตามตนพร้อมที่จะประสานการรับส่งผู้ป่วยโควิด กลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนาในส่วนพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งการเข้าร่วมระบบกักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) โดยหากมีการร่วมมือประสานงานของทุกหน่วยงานรัฐ-เอกชน อย่างชัดเจนและเอาจริงเอาจัง เราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิดนี้ไปด้วยกันได้