เมื่อวันที่ 17 พ.ค. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) จับมือชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีเสวนา “Greener and Livable Bangkok โชว์วิสัยทัศน์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าของกรุงเทพฯ” กับไอเดีย 5 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ร่วมดีเบตแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

โดย ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 สังกัดพรรคก้าวไกล กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ต้องเริ่มจากการกวดขันโรงงานอุตสาหกรรมและกำหนดค่ามาตรฐานให้ตรงตามหลักสากล รวมทั้งฝุ่นควันที่มาจากรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลในพื้นที่กรุงเทพฯ ควรกำหนดเวลาในการปลอดมลพิษ No Emission Zone หรือ No Emission Time เพื่อลดการปล่อยมลพิษ และการเผาในพื้นที่โล่งของจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับปัญหาขยะที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ ปรับปรุงจุดทิ้งขยะ จุดคัดแยกขยะ และจัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ปรับปรุงวิธีคิดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา โดยหากผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจะสามารถนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะได้ รวมทั้งปรับปรุงโรงกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะให้เป็นตัวอย่างที่ดีและได้มาตรฐานสากลเพื่อแปรรูปขยะเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะลดการฝังกลบขยะจาก 80% เหลือเพียง 30%

ปัญหาน้ำเสียต้องเร่งก่อสร้างโรงระบบบำบัดที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว และต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียม การบำบัดน้ำเสียที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนมาใช้ในการสร้างและวางระบบบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น การวางท่อระบบระบายน้ำเสียใหม่ที่เป็นการแยกระหว่างท่อน้ำทิ้งกับท่อที่ใช้ระบายน้ำฝนเพื่อแยกน้ำทิ้งออกจากน้ำฝน ลดปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียทำให้ระบบบำบัดทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของชุมชน

ส่วนพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ควรต้องมีตัวชี้วัดนอกเหนือจากพื้นที่ต่อคน โดยเพิ่มการวัดในมิติของจำนวนคนที่มาใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวและต้องมีพื้นที่สีเขียวในทุก ๆ เขต และเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ถือครองที่ดินในกรุงเทพฯ ที่ต้องการลดหย่อนภาษีที่ดิน โดยการให้สิทธิ กทม. เข้าไปบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวอย่างเท่าเทียม และเรื่อง FAR Bonus ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสูงในกรุงเทพฯ จะต้องกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร”

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 4 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหา PM2.5 สิ่งที่จะดำเนินการทันที คือ การเพิ่มจุดตรวจวัด PM2.5 อย่างน้อยจำนวน 2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ พร้อมแสดงผลค่าการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อป้องกันตัวเอง รวมถึงผู้ว่าฯ กทม. จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และดำเนินการแก้ไขจากต้นตอของปัญหา ควบคุมบริเวณไซต์งานก่อสร้างให้มีมาตรฐานและแผนระยะยาวคือ การสร้างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองตัวอย่างโดยลดปริมาณรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและหันมาเพิ่มปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น สนับสนุนการปรับเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถพลังงานไฟฟ้า

ส่วนปัญหาขยะต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยในส่วนของต้นทางขยะ กทม. จะต้องเข้าไปให้ถึงพื้นที่และเพิ่มความถี่ของรอบการจัดเก็บขยะให้มากขึ้น และปลายทางขยะ กทม. จะต้องจัดทำให้เป็นระบบปิด ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงจัดเก็บขยะได้รับผลกระทบ สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคูคลอง แก้ไขได้ด้วยการนำน้ำดีมาไล่น้ำเสีย โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบการเปิด-ปิดประตูน้ำอัตโนมัติ ให้สอดคล้องกับการขึ้น-ลงของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งจะทำให้น้ำมีการหมุนเวียนตลอดสามารถช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียได้

และส่วนของน้ำเสียต้องผ่านการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเริ่มจากการทำระบบให้น้ำเสียจากชุมชนสามารถไปให้ถึงโรงบำบัดน้ำเสียของ กทม. ได้ เพื่อทำให้โรงบำบัดน้ำทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่การดูแลพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะของ กทม. มี 3 ขั้น ขั้นแรก คือ การปรับปรุงพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพมากขึ้น ขั้นที่ 2 พื้นที่ว่างเปล่าหลายพื้นที่ จัดสรรนำมาใช้ประโยชน์และส่งเสริมให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้และปลอดภัย

และขั้นที่ 3 พื้นที่ของเอกชน จะส่งเสริมให้เปิดพื้นที่สีเขียวและทุกคนเข้าถึงได้ ทาง กทม. จะช่วยลดหย่อนค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงสถานที่ราชการของ กทม. จะเปิดให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้”

ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 6 ในนามอิสระ กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. รับรู้ การสร้างระบบตรวจสอบฝุ่นแบบอัจฉริยะและรายงาน พร้อมแสดงผลการตรวจวัดค่าฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลก่อนล่วงหน้า 2. รับมือ การปรับเวลาการทำงานให้เหลื่อมเวลากันเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และในช่วงสถานการณ์วิกฤตอาจจะให้มีการหยุดการเรียนการสอนที่โรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การเพิ่มจำนวนพาหนะสาธารณะให้ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานของ WHO

และ 3. ร่วมมือผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม การแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบต้องเริ่มแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการคัดแยกจากครัวเรือนและชุมชน และกลางทาง ด้วยการบริหารวิธีการคัดแยกขยะแต่ละประเภทเพื่อให้ขยะมีเส้นทางการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อลดปริมาณขยะไปสู่การฝังกลบ ส่วนปลายทาง ด้วยการนำขยะที่เหลือการคัดแยกนำเข้าสู่โรงงานกำจัดขยะเพื่อแปรรูปขยะไปเป็นพลังงานไฟฟ้า

สำหรับปัญหาน้ำเสียของกรุงเทพฯ สามารถแก้ไขได้โดยการขุดลอกคูคลองและทำระบบเพื่อบริหารจัดการแยกเอาน้ำดีออกจากน้ำเสีย รวมถึงการเพิ่มจำนวนโรงงานบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ส่วนแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐาน WHO คือ การเพิ่ม 3 สวน 2 ป่า ได้แก่ สวนสาธารณะ สวนชุมชน สวนชุมชนในเมือง ป่าในเมือง และป่าชายเลน พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชน โดยการให้ FAR Bonus สำหรับการก่อสร้างอาคารสูง และกำหนดพระราชบัญญัติผังเมืองฉบับใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ในการปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น”

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 7 ในนามอิสระ กล่าวว่า “ปัญหาฝุ่น PM2.5 สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการส่งเสริมการคมนาคมขนส่งทางระบบรางให้มากขึ้น พร้อมทั้งเร่งปรับเปลี่ยนรถยนต์โดยสารสาธารณะของ กทม. ให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น และมีการออกมาตรการที่กวดขันการตรวจสอบรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษควันดำอย่างจริงจัง ในขณะที่ปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

โดยต้นทางจะต้องส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนคัดแยกขยะอย่างถูกต้องเพราะขยะแต่ละประเภทมีวิธีจัดการที่แตกต่างกัน หากสามารถคัดแยกขยะได้ตั้งแต่ต้นทางจะทำให้ลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่การฝังกลบ และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่มีการคัดแยกขยะอีกด้วย ในส่วนของขยะที่ไม่สามารถแยกหรือนำมารีไซเคิลได้ ทาง กทม.จะประสานไปยังภาคีเครือข่ายที่ต้องการรับขยะเหล่านี้ไปใช้ในโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง

ส่วนการบำบัดน้ำเสียต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง โดย กทม. จะมีการกระจายงบประมาณและภารกิจไปให้กับแต่ละเขต เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนในการสร้างจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ในครัวเรือน ก่อนจะทิ้งน้ำลงสู่สาธารณะ ในขณะที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามค่ามาตรฐานสากลนั้น กทม. จะกระจายงบประมาณและภารกิจไปให้กับแต่ละเขต ในการช่วยขยายพื้นที่สีเขียวในแต่ละเขตให้เพิ่มมากขึ้นและประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงได้และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน รวมถึงความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคมในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ”

ทางด้าน รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 8 ในนามอิสระ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ว่า “สิ่งแวดล้อมที่ดี คือ สะอาด สบาย ใกล้บ้าน เราตั้งชื่อว่า “กรุงเทพฯ 15 นาที” ขอให้เราเดินถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาทีเพราะใกล้บ้าน เราจะปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ภายในระยะเวลา 4 ปี หรือปีละ 250,000 ต้น 50 เขต ก็เขตละ 5,000 ต้นต่อปี ส่วนการคัดแยกขยะต้องเริ่มต้นและทำอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันเราใช้เงินในการเก็บขยะและดูแลรักษาเรื่องความสะอาดเป็น 3 เท่าของระบบการศึกษาของเด็ก และเป็น 2 เท่าของระบบสาธารณสุข”..