นายพันธุ์เทพ เสาโกศล รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นพื้นที่ในการผลิตจิ้งหรีดทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีฟาร์มจิ้งหรีดทั้งสิ้น 376 ฟาร์ม และมีเกษตรกรเข้าร่วมระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 6 แปลง ประกอบด้วยพื้นที่ อ.เมืองขอนแก่น, น้ำพอง, โนนศิลา, พล, อุบลรัตน์ และพระยืน โดยมีฟาร์มจิ้งหรีดผ่านมาตรฐานฟาร์ม GAP จำนวน 23 ฟาร์ม โดยมีผลผลิตจิ้งหรีด 490 ตันต่อปี ซึ่งขณะนี้มีฟาร์มจิ้งหรีดที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงฟาร์มเพื่อเข้าสู่มาตรฐานการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP อีกจำนวน 49 ฟาร์ม โดยมีศูนย์รวบรวมจิ้งหรีดตัวสดและต้มบรรจุถุงแช่แข็ง รวม 2 ศูนย์ และมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ อ.น้ำพอง และวิสาหกิจชุมชนคนค้นแมลง อ.ชุมแพ เพื่อขยายขอบเขตความสามารถกับเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง

“ขณะที่ด้านการตลาดปัจจุบันได้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสะดิ้งผง, จิ้งหรีดอัดเม็ด, แจ่วบงจิ้งหรีด, น้ำพริกเผาจิ้งหรีด, จิ้งหรีดคั่วสมุนไพรอัดกระป๋อง, จิ้งหรีดทอดปลอดน้ำมันหลากรส, ลูกชิ้นจิ้งหรีด, พาสต้าโปรตีนจิ้งหรีดเส้นสด เส้นแห้ง รวมไปถึงผงโปรตีนจิ้งหรีดและไส้กรอกอีสานจิ้งหรีดรสแซ่บ ที่มีการส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในปี 2563 พบว่าไทยมีจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีด รวมทั้งสิ้น 25,218 ราย แบ่งเป็นจำนวนบ่อ 272,922 บ่อ และมีผลผลิตรวมประมาณ 24,563 ตันต่อปี ในขณะที่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดการส่งออกของไทยลดลงเนื่องจากบางประเทศไม่รับสินค้าจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น แต่โดยรวมถ้าสถานการณ์ดีขึ้นตัวเลขและความต้องการก็จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการขาดช่วงของการสั่งซื้อสินค้า”

ปัจจุบันไทยมีการส่งออกจิ้งหรีดมากที่สุดไปใน 3 ประเทศ คือ แคนาดา รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คือสำนักงานปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ยกระดับสินค้าเกษตรของจังหวัด ให้มีมาตรฐานและมีการจัดระบบการค้าที่เป็นระบบ และที่สำคัญคือการสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรในกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ได้เข้าถึงกลุ่มตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนนำไปสู่การสร้างรายให้กับเกษตรกรที่ยั่งยืนต่อไป