นายประสิทธิ์ จิตรสุวรรณ อายุ 65 ปี เจ้าของสวนมะนาวศรีทองดำ หมู่ 8 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง  ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะนาวประมาณ 2 ไร่ และได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 5 ไร่ เล่าว่า ได้คิดค้นมะนาวสายพันธุ์ใหม่กินได้ทั้งเปลือก ไม่มีรสขม แถมรสชาติยังเปรี้ยวเหมือนมะนาวทั่วไป ตั้งชื่อว่า “มะนาวพันธุ์ศรีทองดำ”  ซึ่งได้จากการนำยอดของมะนาวพันธุ์ตาฮิติ มาเสียบเข้ากับส้มโอพันธุ์ปัตตาเวีย เพียง 8 เดือน มะนาวก็จะออกดอกและให้ผลผลิตดกเต็มต้นตลอดทั้งปี สามารถปลูกได้ทั้งกลางแจ้ง ในที่ร่มรำไร และในกระถาง ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มะนาวแก้ขัด มีผลใหญ่ คั้นน้ำได้เยอะ เปลือกอ่อนนุ่มคล้ายส้มโอ ไม่มีรสขม ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะร้านอาหารตามสั่ง ร้านส้มตำ โรงแรมและภัตตาคารที่ต้องใช้มะนาวจำนวนมากต่อวัน อีกทั้งยังทนแล้งได้ดี มีโรคและแมลงรบกวนน้อย หลังประสบความสำเร็จมานานกว่า 5 ปี เกษตรกรจึงตอนกิ่งขายราคากิ่งละ 50-100 บาท ตามออร์เดอร์ เพื่อไม่ให้กิ่งตอนเน่าเสีย ส่วนผลสดเก็บขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 50 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

ทั้งนี้จากยุคภาวะเศรษฐกิจข้าวของแพง โดยเฉพาะมะนาวที่มีราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท และวัตถุดิบอื่นก็ปรับราคาสูงเช่นกัน แต่ที่สวนมะนาวศรีทองดำยังคงขายมะนาวในราคากิโลกรัมละ 50 บาทเท่าเดิม แม้แต่ในหน้าแล้ง เนื่องจากทางสวนมะนาวไม่ได้รับผลกระทบอะไร ดังนั้นจึงสามารถส่งให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเก็บผลผลิตได้ตลอดและมีกระแสตอบรับจากลูกค้าที่ดี

ส่วนวิธีการดูแลรักษาต้นมะนาวพันธุ์นี้ ตนก็จะเน้นการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ ปลอดภัย ส่วนผลของมะนาวที่ตกหล่นบนพื้นดิน ตนก็จะปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเสียตามธรรมชาติอย่างนั้น เพราะสามารถช่วยในการกำจัดศัตรูพืชได้ แต่จะไม่ใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด โดยลักษณะของมะนาวที่เหมาะต่อการเก็บไปขาย ก็จะคัดเก็บเฉพาะผลที่มีลักษณะแก่จัด เนื่องจากจะให้น้ำเยอะ ทำให้ลูกค้าที่มาสั่งซื้อเกิดความติดใจในผลมะนาว

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนเตรียมรับมือในอนาคต เนื่องจากเชื่อมั่นว่าจากสภาวะมะนาวมีราคาแพง ก็จะส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกมะนาวมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะเกิดภาวะวิกฤตมะนาวล้นตลาด โดยตนก็เตรียมที่จะต่อยอดทำวุ้นกรอบมะนาวศรีทองดำ มะนาวเชื่อม มะนาวอบ และมะนาวในรูปแบบเจลลี่ เป็นต้น เพื่อทำการแปรรูปมะนาว ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น และสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งต่อไป