เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จะมีการจัดเก็บในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ไม่เกิน 59 บาท ว่าประเด็นนี้หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะปัญหารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ให้บริการอยู่ ขณะนี้ ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าบริการ ยังเปิดให้วิ่งฟรี ขณะเดียวกันจากข้อมูลของทีมผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอมาว่า ควรจัดเก็บค่าบริการสูงสุด ไม่เกิน 59 บาท

ดังนั้นราคานี้ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาว แต่เป็นแผนระยะสั้น สำหรับตัวเลข 59 บาทที่รับข้อเสนอมา กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.พิจารณาข้อมูล โดยใช้สูตรการคำนวน 14+2(x) ซึ่ง x คือจำนวนสถานีที่นั่ง เดิมสูตรการคำนวณ 14+3(x)

สำหรับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่าค่าบริการรถไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 25-30 บาท ไม่ได้หมายความว่านั่งจากสถานีต้นทางคูคตถึงปลายทางสมุทรปราการ เป็นราคานี้ แต่คิดจากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยต่อสถานีที่คนใช้บริการ เดิมมีการคิดค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี แต่ล่าสุด สจส.คำนวณไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 11 สถานี

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กทม.ต้องจ่ายค่าเดินรถส่วนต่อขยาย คิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นระยะยาวจะต้องนำเรื่องสัญญาสัมปทานเส้นทางหลักซึ่งจะหมดสัญญาปี 2572 มาพิจารณาด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 มีผู้ใช้บริการร้อยละ 27 ซึ่งนั่งฟรี แต่คนอื่นที่จ่ายเงินในการโดยสารรถไฟฟ้าต้องมาช่วยจ่าย ต้องยอมรับว่า กทม.นำภาษีของทุกคนมาจ่ายเท่ากับว่าคนที่ไม่ได้นั่งก็ต้องจ่ายให้ด้วย

นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างคือ คนให้บริการรถสาธารณะใต้แนววิ่งรถไฟฟ้าที่ เช่น วินรถจักรยานยนต์ ได้รับผลกระทบเพราะรถไฟฟ้านั่งฟรี คนให้บริการด้านล่างทำมาหากินไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการ โดยจะเร่งหารือกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธานบอร์ด บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังการประชุมบอร์ดนัดแรก วันที่ 30 มิ.ย.