สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่า ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ของจีน เดินทางถึงดาวอังคารเมื่อเดือน ก.พ. 2564 เพื่อปฏิบัติภารกิจปฐมฤกษ์ ในการสำรวจดาวอังคารให้กับทางการจีน โดยหุ่นยนต์สำรวจถูกปล่อยสู่พื้นผิว ขณะที่ยานโคจรสำรวจดาวเคราะห์จากอวกาศ

ในบรรดาภาพที่บันทึกจากอวกาศ มีภาพถ่ายขั้วใต้ดาวอังคารรูปแรกของจีนรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อกันว่า เป็นจุดเก็บกักทรัพยากรน้ำเกือบทั้งหมดของดาวดวงนี้

อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ยานโคจรขององค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) เคยค้นพบน้ำใต้น้ำแข็งของขั้วใต้ดาวอังคารเช่นกัน

การระบุตำแหน่งแหล่งน้ำใต้ผิวดิน คือ กุญแจสำคัญที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตบนดาวอังคาร เช่นเดียวกับการเป็นทรัพยากรถาวรสำหรับการสำรวจของมนุษย์

ทั้งนี้ ภาพอื่น ๆ ของเทียนเวิ่น-1 ยังรวมถึงรูปถ่ายหุบผาวัลเลส มารีเนอริส (Valles Marineris) ที่มีความยาว 4,000 กม. และหลุมอุกกาบาตในที่ราบสูงทางตอนเหนือของดาวอังคาร ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อาระเบีย เทอร์รา (Arabia Terra)

นอกจากนี้ เทียนเวิ่น-1 ยังส่งภาพถ่ายความละเอียดสูงของขอบหลุมอุกกาบาตเมาน์เดอร์ขนาดใหญ่บนดวงจันทร์ และรูปถ่ายจากบนลงล่างของแอสเครอุส มอนส์ (Ascraeus Mons) ภูเขาไฟรูปโล่ขนาดใหญ่ที่มีความสูงราว 18,000 ม. ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกโดยยานอวกาศ มารีเนอร์ 9 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว.

เครดิตภาพ : REUTERS