เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 มิ.ย. ร.ต.อ.ชัยสิทธิ์ คำผายจันทร์ รอง สว.(สอบสวน) สน.พลับพลาไชย 2 รับแจ้งเหตุอาคารเก่าทรุดตัว ภายในชุมชนตลาดน้อย ซอยดวงตะวัน ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธ์วงศ์ กทม. จึงรายงานให้ พ.ต.อ.พนม เชื้อทอง ผกก.สน.พลับพลาไชย 2 พร้อมด้วย น.ส.อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผอ.เขตสัมพันธ์วงศ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่วิศวกรสำนักการโยธา, เจ้าหน้าที่ป้องกันภัยและดับเพลิง กทม. เขตสวนมะลิ ร่วมตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุอยู่ภายในชุมชนเก่าแก่ย่านตลาดน้อย เหตุเกิดบ้านเลขที่ 276-278-280-282 ลักษณะเป็นบ้านปูนก่อด้วยอิฐสูง 2 ชั้น เป็นบ้านทรงจีนโบราณปลูกติดกัน โดยรอบเป็นอาคารบ้านพักอาศัยและมีอพาร์ตเมนต์ ตรวจสอบภายในบริเวณบ้านเลขที่ 280-276-278 เป็นบ้านเช่าครึ่งปูนครึ่งไม้ ด้านในสุดพื้นที่ทำครัวและห้องน้ำ พบเศษซากปูนถล่มทับเป็นกองพะเนิน มีอุปกรณ์ทำครัว ถังแก๊สกระทะและห้องน้ำติดอยู่คาซากปูนที่เป็นส่วนของผนังกำแพงชั้นสองของอาคารเลขที่ 282 ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่ชื่อดัง “โซวเฮงไถ่” คล้ายศาลเจ้าจีนเก่าที่ติดกัน และชิ้นส่วนหลังคากระเบื้องพังตกลงมาจนได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่โยธาและสำนักงานเขต ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ ไม่พบว่ามีผู้ติดค้าง จึงนำเส้นโปลิศไลน์กั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ เนื่องจากพบรอยร้าวบริเวณกำแพง ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

สอบสวนทราบว่า อาคารดังกล่าวเป็นของ นางดวงตะวัน โปษยะจินดา อายุ 78 ปี มีเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านแจ้งว่า บ้านดังกล่าวมีอายุ ราว 260 ปี สร้างก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบ้านจีนหลังแรกของกรุงเทพมหานคร คาดว่าสาเหตุดังกล่าวอาจมาจากความเก่าแก่ของวัสดุสิ่งปลูกสร้าง ทำให้เกิดร้าวและทรุดตัวขึ้น เนื่องจากไม่มีคานรับ มีเพียงการก่อด้วยปูนและอิฐแดง

จากการสอบถาม นายเกียรติชัย ซาหิน อายุ 45 ปี (อาชีพรับจ้างผู้เห็นเหตุการณ์) เปิดเผยว่า เหตุเกิดช่วงประมาณตี 2 ขณะตนนอนหลับอยู่ภายในห้องได้ยินเสียงเหมือนตึกถล่ม เมื่อออกมาดูก็ทราบว่าอาคารทรุดถล่มลง เห็นฝุ่นฟุ้งกระจายทั่ว รู้สึกตกใจมากทำอะไรไม่ถูก มีแม่พักอยู่ใกล้กับจุดที่ถล่ม แต่ดีที่ไม่มีใครออกมา ส่วนที่ได้รับความเสียหายเป็นห้องครัวและห้องน้ำ ซึ่งพักอาศัยกันอยู่ภายในบ้าน 5-6 คน เมื่อสำรวจดูมีเพียงสิ่งของที่เสียหาย แต่ชีวิตคนไม่เป็นอะไรก็ถือว่าโชคดีแล้ว

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เตรียมประสานกรมศิลปากร เข้าตรวจสอบว่าเข้าเกณฑ์ขึ้นทะเบียนโบราณสถานได้หรือไม่ และต้องรอการตรวจสอบหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้งต่อไป.