สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ว่า นพ.โทชิโอะ นาคางาวะ ประธานสมาคมแพทย์ญี่ปุ่น ( เจเอ็มเอ ) แถลงเมื่อวันอังคาร เรียกร้องนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทั้ง 47 จังหวัดในประเทศ เพื่อยกระดับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มแตะระดับ 10,000 คน สร้างความตึงตัวอย่างหนักต่อระบบสาธารณสุข
ขณะที่ นพ.ฮิโรโนริ ซางาระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโชวะ หนึ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรุงโตเกียว ยอมรับว่า โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองหลวงของญี่ปุ่น รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโชวะ จำเป็นต้องปฏิเสธการรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 "ที่อาการยังไม่วิกฤติ" ไปแล้วจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในโรงพยาบาลเกินศักยภาพของบุคลากรการแพทย์แล้ว และสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย ในช่วงที่กรุงโตเกียวกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก
บุคลากรการแพทย์ที่โรงพยาบาลไทชิคาวะ โซโง ในกรุงโตเกียว ติดแผ่นป้ายข้อความประท้วงรัฐบาลญี่ปุ่น บนกระจกด้านหนึ่งของโรงพยาบาล ว่าระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัด และคัดค้านการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้
ท่าทีดังกล่าวของฝ่ายแพทย์เกิดขึ้นหลังซึงะประกาศเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่านับจากนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง การสำรองเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำกัดให้เฉพาะ "ผู้ป่วยอาการวิกฤติ" หรือ "มีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤติ" และขอให้ผู้ป่วยที่อาการ "ตั้งแต่ปานกลางลงไป" ให้รักษาตัวที่บ้าน 
ด้านนายคัตสึโนบุ คาโตะ โฆษกคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลมีความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 40-50 ปี และส่วนใหญ่แสดงอาการป่วย ส่วนอัตราการป่วยในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว
สำหรับสถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายวันเฉพาะในกรุงโตเกียว อยู่ที่ 3,709 คน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นับเป็นวันที่แปดติดต่อกันแล้ว ซึ่งเมืองหลวงของญี่ปุ่นมีผู้ป่วยยืนยันรายวันมากกว่า 2,000 คน ส่วนสถิติผู้ติดเชื้อสะสมเฉพาะในกรุงโตเกียวอยู่ที่อย่างน้อย 226,930 คน ยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3,231 คน และเสียชีวิตสะสมอย่างน้อย 2,293 ราย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES