หากกล่าวถึงคำว่าแม่แล้ว ลูก ๆ ทุกคนรู้ซึ้งในความหมายและพระคุณเสมอ กว่าผู้หญิงหนึ่งคนจะได้เป็นแม่นั้น ต้องผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย โดยในวันนี้ พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี สูติแพทย์และแพทย์มะเร็งนรีเวช ได้ออกมาเผยถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์

สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ ได้แก่
1.การตรวจคัดกรองโรค ได้แก่ โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส ตรวจภูมิคุ้มกันโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ หัดเยอรมันเป็นต้น
2.การเตรียมร่างกายได้แก่ การรักษาโรคประจำตัวเดิมให้โรคสงบ ควบคุมโรคได้ดีไม่มีการกำเริบ ใช้ยาปริมาณน้อยที่สุด และลดยาที่อาจก่อให้เกิดเด็กพิการได้ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิคุ้มกันร่างกาย (Autoimmune disease , SLE) เป็นต้น
3.เลี่ยงการใช้ยา อาหารเสริมที่อาจก่อให้เกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ เช่น ยารักษาสิวบางชนิด ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
4.ในสตรีที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือโรคอ้วน แนะนำควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์
5.สตรีบางรายจำเป็นต้องได้รับ folic acid เสริมก่อนการตั้งครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงการมีบุตรพิการ เช่น สตรีที่ไม่รับประทานผัก มีประวัติขาด folic มีประวัติคลอดบุตรพิการ เป็นต้น
6.กรณีมีประวัติมีบุตรยาก แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุ รักษา หรือ ใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธ์ เป็นต้น
7.หากยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลทั้งทางร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อม การศึกษา แนะนำรับการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมเพื่อลดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ลดความเสี่ยงการทำแท้ง ลดปัญหาสังคมในอนาคต

เมื่อตั้งครรภ์ สิ่งที่ว่าที่คุณแม่ต้องปฏิบัติตนตลอดการตั้งครรภ์ ได้แก่
1.พบสูติแพทย์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์เพื่อได้รับการตรวจครรภ์ว่ามีความเสี่ยงใดหรือไม่
2.พบสูติแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
3.รับประทานยาบำรุง เฉพาะที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่แนะนำซื้อยาทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีผลต่อความพิการของทารกในครรภ์
4.หากมีอาการผิดปกติ แนะนำพบแพทย์ เช่น แพ้ท้องมาก มีเลือกออกในช่วงตั้งครรภ์ เด็กดิ้นน้อย ปวดท้องน้อย มีน้ำเดิน เป็นต้น
5.รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ปรุงสุกสะอาด เลี่ยงสุรา บุหรี่ และสารเสพติด
6.พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
7.ออกกำลังกาย หรือ บริหารร่างกายภายใต้การดูแลของแพทย์ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
8.การมีเพศสัมพันธ์ ขณะตั้งครรภ์ แนะนำปรึกษาสูติแพทย์ เป็นราย ๆ เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์บางรายมีภาวะเสี่ยงต่อการแท้ง มีรกเกาะต่ำ ซึ่งอาจทำให้เพิ่มภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ได้
9.การให้นมบุตรคนพี่ เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์บางรายยังให้นมบุตรคนก่อนหน้า แม้ว่าการให้นมบุตรขณะที่ตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่ในสตรีบางรายมีมดลูกบีบตัวรุนแรง ปวดท้องน้อย มีเลือดออกผิดปกติ ก็อาจต้องพักการให้นม เป็นต้น
10.กลุ่มสตรีตั้งครรภ์อายุมาก คือ อายุเกิน 35 ปี พบว่ามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์หลายอย่างมากขึ้น แนะนำพบแพทย์ใกล้ชิด อาจมีความจำเป็นต้องตรวจหาความเสี่ยงต่อบุตรโครโมโซมผิดปกติด้วย
11.การรับวัคซีนหลักขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด แพทย์จะพิจารณาช่วงเวลาการฉีดอย่างเหมาะสม
12.ยุคโควิด แนะนำสตรีตั้งครรภ์ยังคงรักษามาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด (ถึงแม้จะเริ่มมีมาตราการผ่อนคลายแล้วก็ตาม) สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ รับวัคซีนโควิดตามนัด เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงมีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

จะเห็นได้ว่าการจะได้เป็นแม่นั้น มีความยิ่งใหญ่ ต้องทุ่มเทหลาย ๆ อย่างตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ รวมถึงเมื่อคลอดบุตรเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิต คุณแม่ที่คลอดเองต้องทนเจ็บครรภ์ เบ่งคลอด จนบุตรคลอดเองทางช่องคลอด ส่วนคุณแม่ที่ต้องผ่าคลอด ก็ต้องเข้าห้องผ่าตัด บล้อคหลัง ทำการผ่าตัด ต้องทนอดอาหารก่อนการผ่าตัด ทนปวดแผลหลังผ่าคลอด จากนั้น หลังคลอดต้องอดหลับอดนอน ต้องปั้มนมให้บุตรทุก 3 ชั่วโมงตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เป็นเวลาอย่างน้อย 3-6เดือน ต้องคอยตื่นให้นม เปลี่ยนผ้าอ้อม คอยดูแลเลี้ยงดูจนทารกเติบโตเป็นเด็ก เข้าโรงเรียนต้องคอยอบรมสั่งสอน รับส่งโรงเรียน ทำอาหาร จัดการเสื้อผ้า ติวการบ้าน เป็นต้น เมื่อมองภาพเป็นเรื่องราวต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าคำว่า แม่ ยิ่งใหญ่เสมอ

สำหรับวันแม่ 12 สิงหาคม 2565 นี้ในฐานะหมอสูติที่ได้มองเห็น และได้มีโอกาสดูแลสตรีหลาย ๆ ท่านตั้งแต่เกิด จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นสตรีตั้งครรภ์ ไปจนถึงสตรีสูงอายุ และสตรีวัยทอง อยากได้คุณลูก ๆ ทุกคนรำลึกในพระคุณคุณแม่ ตอบแทนความรักที่ท่านมีให้ตลอดไปนะคะ..