เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเด็กเช็ดกระจกรถตามแยกต่างๆ ว่า เป็นเรื่องที่ยากในการแก้ปัญหา และพยายามใช้คลองเตยโมเดลที่นำร่องแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจกรถ เช่น ตามไปดูบ้านอยู่ที่ไหน ไปคุยกับพ่อแม่และดึงออกจากระบบ ซึ่งพยายามแก้ปัญหาไม่เฉพาะระยะสั้นที่ไปคุยให้เขากลัวแล้วไปอยู่สี่แยกอื่น ต้องแก้โดยนำฝ่ายพัฒนาชุมชนลงพื้นที่ไปด้วย ดูว่าจะสามารถหางานให้ได้อย่างไร โดยจุดหลักไม่อยากให้มีเด็กเช็ดกระจกรถไถ่เงิน 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเด็ก 4-6 ขวบมาเช็ดกระจกรถตามสี่แยกเป็นเคสที่ไม่ง่าย ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วย เรื่องนี้ต้องเข้าไปดู แต่พอเข้าไปเขาก็วิ่งหนี ซึ่งอาจเกิดอันตรายมากขึ้นด้วยซ้ำ หรือโดนรถชน 

“การแก้ปัญหาต้องละมุนละม่อม และคงต้องคุยกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่ระยะสั้นที่กดดันให้เข้าออก ไปหาดูว่าพ่อแม่เขาทำงานยังไง มีสวัสดิการอะไรที่จะช่วยเหลือเขาไหมเด็กเรียนหนังสือไหม ในฐานะ กทม. จึงอยากแก้ปัญหาระยะกลาง ระยะยาวมากกว่า” นายชัชชาติ กล่าว 

เมื่อถามว่า หากไม่ใช่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ที่มาทำอาชีพนี้ตามสี่แยกจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่ได้อยู่แล้ว หลักการที่ให้นโยบายไปคือไม่ได้ เพราะเหมือนเป็นการข่มขู่ สร้างความไม่สบายใจ แต่ถ้าขายพวงมาลัยอย่างน้อยมีการแลกเปลี่ยน ไม่ได้บีบบังคับให้ซื้อ ตอนนี้จะเน้นกับคนที่กึ่งๆ ไปขู่ หรือไปเช็ดกระจกโดยที่คนขับรถไม่ได้ต้องการ.