สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ว่าองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ ( นาซา ) ประกาศยกเลิกกำหนดการส่งระบบจรวดขนาดยักษ์ “สเปซ ลอนช์ ซิสเต็ม” หรือ “เอสแอลเอส” จากฐานปล่อยจรวด ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคานาเวอรัล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา


ทั้งนี้ การยืนยันว่ายกเลิก เกิดขึ้นประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนถึงกำหนดการส่งจรวด เมื่อเวลา 14.17 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ ( 01.17 น. วันอาทิตย์ตามเวลาในประเทศไทย ) โดยแถลงการณ์ของนาซาระบุว่า ยังคงพบปัญหาที่ระบบเครื่องยนต์ ซึ่งยังคงมีเชื้อเพลิงรั่วซึมออกมาจาก “รอยรั่วขนาดใหญ่” ทำให้เครื่องยนต์ทุกตัวไม่สามารถเย็นได้ระดับอุณหภูมิตามที่ต้องการ หลังพยายามอัดไฮโดรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ -217 องศาเซลเซียสเข้าไป

จรวดเอสแอลเอสของนาซา ที่ด้านบนเป็นยานแคปซูลไร้มนุษย์ “โอไรออน” ยังคงประจำการอยู่ที่ฐานปล่อยจรวด ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี ที่รัฐฟลอริดา


ขณะที่นายบิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา กล่าวว่า ปัญหานอกจากนั้นยังรวมถึง รอยแตกที่ฉนวนโฟมกันความร้อน และความขัดข้องที่ระบบเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ส่วนกำหนดการทดสอบจรวดครั้งต่อไปยังไม่ชัดเจน แต่มีการระบุกรอบระยะเวลาระหว่างวันที่ 19-30 ก.ย. นี้ หรืออาจเลยไปจนถึงกลางเดือนต.ค. ที่จะถึง


ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว ที่นาซาเลื่อนกำหนดการทดสอบระบบเอสแอลเอส หลังเป้าหมายครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการตรวจพบปัญหาลักษณะคล้ายคลึงกัน


ระบบเอสแอลเอสเป็นเทคโนโลยีที่นาซาพัฒนา เพื่อใช้สำหรับโครงการสำรวจอวกาศห้วงลึก ซึ่งรวมถึงภารกิจหวนสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี ในชื่อ “อาร์ทิมิส” ทั้งแบบไร้มนุษย์และมีมนุษย์เดินทางไปด้วย ซึ่งเป้าหมายตอนนี้อยู่ที่ปี 2568 แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า อาจล่าช้ายิ่งกว่านั้น ด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับงบประมาณ นอกจากนั้น นาซายังมีแผนใช้ระบบเอสแอลเอสกับโครงการสำรวจดาวอังคารด้วย


นอกจากนี้ ระบบเอสแอลเอส หนัก 2.6 ล้านกิโลกรัม สูงประมาณ 100 เมตร เทียบท่าอาคาร 32 ชั้น และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร เป็นการเดินทางสู่อวกาศของจรวดขนาดใหญ่และทรงพลังที่สุด ยิ่งกว่าจรวด “ฟอลคอน เฮฟวี” ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ โดยจรวดเอสแอลเอสแบ่งน้ำหนักบรรทุกออกเป็น 3 ช่วง สำหรับวงโคจรระดับต่ำ เขตอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ และวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ใช้งบประมาณตลอดโครงการประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 843,226 ล้านบาท ).

เครดิตภาพ : REUTERS