ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ กทม. เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนใน กทม. ตามที่รัฐบาลกำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือนว่า ล่าสุด กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย แบ่งการจัดงานเป็น 2 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะแรก คือมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์ เปิดโอกาสประชาชนลงทะเบียนผ่าน www.bot.or.th/debtfair ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ของวันที่ 26 ก.ย. – 30 พ.ย. 65

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการดังกล่าวดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ในขณะที่ กทม.มีชุมชมจำนวนมาก ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือเข้าถึงข้อมูลล่าช้า ดังนั้น ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจะเข้าไปช่วยทำหน้าที่ผลักดันการรับรู้ประโยชน์โครงการ และทำความเข้าใจวิธีการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ โดยจะรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโครงการง่ายขึ้น

เบื้องต้นคือการอบรมตัวแทนชุมชนให้มาเรียนรู้ก่อนนำไปถ่ายทอดต่อ โดยได้ประสานกับ ธปท.ช่วยสนับสนุนการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ชี้แจงรายละเอียดการเข้าร่วมกิจการแก่ผู้นำชุมชน ชุมชนละ 2 คน แบ่งเป็น 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1,000 คน เพื่อให้ตัวแทนชุมชนที่ผ่านการอบรมสามารถนำข้อมูลไปถ่ายทอดกับลูกหนี้และช่วยให้ลูกหนี้เข้าสู่มหกรรมแก้หนี้อย่างถูกต้อง ทั้งเรื่องประโยชน์และเอกสารที่ต้องเตรียมการ

สำหรับการประชุมชี้แจงทั้ง 4 ครั้ง มีกำหนดการดังนี้ 1.กลุ่มเขตกรุงเทพฯกลางและกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ วันที่ 27 ก.ย.65 เวลา 13.00-14.00 น. ครั้งที่ 2 กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือและเขตบางขุนเทียน วันที่ 27 ก.ย.65 เวลา 15.00-16.00 น ครั้งที่ 3 กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก และเขตบางบอน วันที่ 28 ก.ย.65 เวลา 09.30-10.30 น. และครั้งที่ 4 กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ (ยกเว้นเขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน) วันที่ 28 ก.ย.65 เวลา 10.30-11.30 น.

ดร.เกษรา ระบุถึง กลุ่มลูกหนี้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ ผู้ที่มีรายได้ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ กทม.ยังมีโครงการที่จะอบรมให้ความรู้ด้านการเงินและการออม รวมถึงอบรมการวางแนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหลักโดยไม่พึ่งพาเงินกู้นอกระบบให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วย เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนอีกทางได้.