เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยารายหนึ่ง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตัวเอง ว่า “งบประมาณที่ สปสช.ให้ 1,000 บาท/วัน/คนกับอาหารที่ผู้ป่วยได้รับ คุณภาพมันต่ำเกินที่จะนิ่งดูดายจริงๆครับ รบกวนท่าน ส.ส.ดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยทุกท่านด้วยครับ ผมแค่ประชาชนคนหนึ่งทำ อะไรไม่ได้” พร้อมโพสต์ภาพอาหาร 3 มื้อ ทำเอาสื่อโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ และแชร์ต่อๆ กันจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยังเจ้าของโพสต์ดังกล่าว ได้รับทราบข้อมูลว่า ติดเชื้อโควิดตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.และเข้าระบบเรียบร้อย โดยโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดให้กลับมากักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และนัดตรวจเชื้อที่ปอดก็ต้องเดินทางไปเอง จากนั้นก็กลับมากักตัวที่บ้าน มีคนในครอบครัวกักตัวด้วยอีก 5 คนซึ่งคนอื่นๆได้รับถุงยังชีพจาก อบต.ในพื้นที่ ส่วนตนโรงพยาบาลแจ้งว่าจะมีอาหารมาให้ 3 มื้อ แต่จนถึงวันนี้ (12 ส.ค.) ยังไม่เคยได้รับอาหารกล่องเลยแม้แต่กล่องเดียว สอบถามไปทางโรงพยาบาลแจ้งว่าคนเยอะ ดูเรื่องการติดตามอาการอย่างเดียว ส่วนเรื่องอาหารทางโรงพยาบาลจ้างคนนอกและจะติดตามให้ ซึ่งทราบมาว่าทาง สปสช.มีงบประมาณให้ในการจัดการเรื่องอาหารคนละ 1,000/วัน/คน ซึ่งถึงแม้จะเป็นค่าบริการ ค่าอาหาร ค่าปรอทหรือค่าอะไรก็ตาม ก็ควรที่จะได้รับสิทธิเหมือนคนอื่น และทราบว่ายังมีอีกหลายคนไม่ได้รับเหมือนกัน และจากการตรวจสอบการส่งอาหารให้พบว่าบางแห่งมีอาหารอย่างดี เชื่อว่าปัญหาอาจอยู่ที่ผู้รับจ้าง จึงตัดสินใจโพสต์ดังกล่าวเพื่ออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบหนังสือของ สปสช. ลงวันที่ 22 ก.ค.64 ลงนามโดย เลขาธิการสำนักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่แจ้งซักซ้อมความเข้าใจการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อโควิด-19 กรณีดูแลใน Home Isolation และ Community Isolation และแจ้งปรับปรุงราคาการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ถึงผู้อำนวยการหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถานบริการเอกชนทุกแห่ง โดยระบุถึงค่าดูแลการให้บริการสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (High Risk closed contract) ตามที่หน่วยบริการจัดให้ ค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลการให้บริการสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงที่ให้บริการแก่ประชาชนไทยทุกคน รวมค่าอาหารจำนวน 3 มื้อ โดยจ่ายตามจริงไม่เกินจำนวน 1,000 บาทต่อวัน ไม่เกินจำนวน 14 วัน เพิ่มเติมรายการค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยโดยใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไป โดยจ่ายให้แก่หน่วยบริการที่จัดให้มีพาหนะรับส่งผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีผลสำหรับการบริการตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้ ค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยโดยใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไปจ่ายตามระยะทางกรมทางหลวง ไป–กลับ ระยะทางไปกลับ ไม่เกิน 100 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท ระยะทางไปกลับ มากกว่า 100 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 5,000 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 10 บาท ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PersonalProtective Equipment : PPE) รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง

นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ค่าอาหารจริง ๆ อยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อมื้อต่อคน วันละ 3 มื้อ นอกนั้นเป็นค่าติดตาม เงิน 1,000 บาท ไม่ใช่ค่าอาหารทั้งหมดซึ่งยอมรับว่าเคยรับทราบปัญหานี้ส่วนใหญ่โรงพยาบาลรัฐจะจ้างคนนอกหลายเจ้าทำอาหารแจกจ่ายไปให้ผู้กักตัว พอคนจำนวนมากก็หมุนเงินไม่ทัน ต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแล บางท้องถิ่นก็เจอปัญหาเงินสำรองไม่พอจ่ายค่าอาหาร เพราะคนที่อยู่ในระบบ HICI เยอะมากขึ้น กว่าจะได้เงินคืนกลับมาตามระบบจัดซื้อจัดจ้างก็ต้องใช้เวลากว่า 2 เดือน ทั้งโรงพยาบาลและท้องถิ่นเงินจึงไม่พอ อาจจะมีปัญหากับคนรับจ้างที่ต้องการเงินหมุนเหมือนกันทางผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทราบเรื่องนี้ ได้ให้ทางผู้อำนวยการและนายอำเภอหารือกันที่จะให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย ซึ่งการได้เงินช้ายังมีปัญหาจากการที่ให้คนไข้เอาบัตรประชาชนมาคีย์เข้าระบบ คนไข้ไม่เอามาก็ไม่ได้คีย์ข้อมูลเข้าระบบเพื่อเบิกจ่าย ญาติก็กลัวติดไม่กล้าไปเอาบัตรมา ทาง รพ.ก็ต้องสำรองไปเรื่อยๆ ถึงจะแก้ปัญหาแบ่งให้แม่ค้าหลายเจ้าทำอาหารแต่ก็เกิดปัญหาเช่นกันซึ่งใช้เงินค่าอาหารไปกว่า 10 ล้านบาทแล้ว ส่วนกรณีที่คนป่วยโทรฯ ทวงถามแล้วเจ้าหน้าที่ที่ติดตามอาการไม่ได้ติดตามเรื่องอาหารให้ อาจจะเป็นเพราะบุคลากรที่ทำงานมักทำงานหน้าเดียว หน้าที่ใครหน้าที่มัน ซึ่งตนจะได้แจ้งให้ทางผู้อำนวยการทุกแห่งได้ทราบ และดูแลเรื่องนี้มากขึ้นซึ่งหากใครไม่ได้รับอาหารให้ติดต่อโดยตรงกับศูนย์ HI ของโรงพยาบาลได้ทันที